ไขปม “สะเทือนขวัญ” คนทั้งชาติ! “พลเมืองจูหลิง” ฉาย 12 สิงหานี้ ที่เฮ้าส์ อาร์ซีเอ

ข่าวบันเทิง Monday August 3, 2009 16:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--สหมงคลฟิล์ม แม้เวลาจะผ่านไปพักใหญ่แล้ว แต่คนไทยยังไม่สามารถลืมเหตุการณ์อันน่าสลดของ คุณครูจูหลิง ปงกันมูล เมื่อเดือนมกราคมปี 2550 ได้ นอกเหนือจากคดีซึ่งยังคงเป็นปริศนา กรณีของครูจูหลิงได้สะท้อนให้เห็นการแก้ปัญหาอันคลุมเครือของรัฐบาลต่อสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนไทยที่ไม่ใช่คนในท้องที่ก็มองความขัดแย้งนี้เพียงด้านเดียว ในขณะที่สื่อมวลชนกลับไม่นำเสนอข้อเท็จจริงแบบรอบด้าน มานิต ศรีวานิชภูมิ, สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เดินหน้าสู่สถานที่เกิดเหตุ สัมผัสและพูดคุยกับบุคคลในเหตุการณ์ อีกทั้งยังให้ภาพความเป็นไปของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างที่ผู้ชมไม่มีโอกาสได้เห็นมาก่อน ใน สารคดีชิ้นเยี่ยมเรื่อง “พลเมืองจูหลิง” (CITIZEN JULING) ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยอย่างตรงไปตรงมา เจ็บลึกด้วยกลวิธีอัยแยบยล นอกเหนือไปจากการฉายภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ พลเมืองจูหลิงยังพาผู้ชมออกไปมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่เรียกว่า “ประเทศไทย” อย่างถึงแก่น พลเมืองจูหลิง ออกฉายทั้งในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ, เทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลิน และเทศกาลภาพยนตร์เมืองโตรอนโต คอหนังชาวไทยไม่ควรพลาด เมื่อพลเมืองจูหลิง มีโปรแกรมลงโรงฉายในวันที่ 12 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ณ โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอแห่งเดียวเท่านั้น พิเศษ ตลอดโปรแกรมการฉาย ขอเชิญชมนิทรรศการภาพถ่ายฝีมือของช่างภาพชาวญี่ปุ่น มาซารุ โกโตะ ในชุด “สูญเสียผู้เป็นที่รัก” (Lost Loved Ones) ซึ่งจะสะท้อนภาพอารมณ์สูญเสียของเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ พ ล เ มื อ ง จู ห ลิ ง เกี่ยวกับผู้กำกับ 1 มานิต ศรีวานิชภูมิ “1 ใน 100 ช่างภาพที่ดีที่สุดในโลก จากการคัดเลือกของสำนักพิมพ์ ไพดอน และ เจ้าของรางวัลกาชิกาวาจากประเทศญี่ปุ่น” มานิต ศรีวานิชภูมิ เป็นทั้งศิลปินภาพถ่ายและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ใช้งานถ่ายภาพและสื่อวีดิทัศน์ ในการสะท้อนความเป็นไปของการเมืองและสังคมไทย อย่างแสบสันต์และเฉียบคม มานิตเป็นเจ้าของงานศิลปะภาพถ่ายชุด “PINK MAN” ซึ่งตั้งใจวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นกลางในสังคมแบบบริโภคนิยมในประเทศไทย เป็นตัวแทนของคนไทยในปัจจุบันที่ไม่แยแสต่อเหตุการณ์ความฉิบหายใดๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ศิลปินผู้นี้เคยออกมาต่อต้านการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Beach รวมทั้งออกมาวิพากษ์แคมเปญ Amazing Thailand ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่า “เราพยายามรักษาประเทศไทย ด้วยการเอามันไปขายเสีย” ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9520000056301 http://www.iniva.org/dare/themes/space/manit.html เกี่ยวกับผู้กำกับ 2 อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ สมานรัชฎ์ "อิ๋ง" กาญจนะวณิชย์ หรือ อิ๋ง เค (Ing K) เป็นนักเขียน นักเขียนบทภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ภาพยนตร์สารคดี และนักวิพากษ์เรื่องสิ่งแวดล้อม สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์สมานสนิท สวัสดิวัตน์ กับศาสตราจารย์ ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์ วิศวกรอาวุโส อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมานรัชฎ์เป็นหลานตาของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เสรีไทยสายอังกฤษ ศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนสาธิตจุฬา ไปศึกษาที่เวสต์แฮมตัน ประเทศอังกฤษตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น เมื่อ พ.ศ. 2516 และศึกษาต่อด้านจิตรกรรม ที West Surrey College of Art and Design เดินทางกลับประเทศไทย ทำงานเป็นอาสาสมัครของยูเอ็นช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อรัญประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2522 จากนั้นไปทำงานเป็นนักข่าวเดอะเนชั่น เปิดบริษัทรับทำโฆษณา เขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารลลนาบันทึกการเดินทางท่องเที่ยว ในชื่อ "ข้างหลังโปสการ์ด" โดยใช้นามปากกา "หลานเสรีไทย" งานเขียนในช่วงต่อมาของเธอ เริ่มวิพากษ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับถูกปิดกั้น เธอจึงออกจากงานที่เนชั่น และสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก เรื่อง "Thailand for Sales" (2534) ได้รับทุนจากสำนักข่าวบีบีซี โดยเธอเป็นผู้เขียนบท และบรรยาย กล่าวถึงผลกระทบจากธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อม ภาพยนตร์สารคดีเรื่องที่สอง "Green Menace : The Untold Story of Golf" (2536) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เธอเป็นผู้กำกับ และกำกับภาพ วิพากษ์ธุรกิจสนามกอล์ฟที่ กำลังบูมในขณะนั้น ว่ามีผลทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร ภาพยนตร์ได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม Suffolk Film and Video Festival นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์สารคดีเรื่องถัดมา "Casino Cambodia" (2537) เป็นสารคดีวิพากษ์ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของอเมริกา ในประเทศกัมพูชาจากมุมมองของภาครัฐ อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ สร้างภาพยนตร์ ความยาว 2 ชั่วโมง ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. ในปี พ.ศ. 2539 เรื่อง "คนกราบหมา" (My Teacher Eats Biscuits) เป็นหนังตลกร้ายว่าด้วยลัทธิประหลาดที่ผู้คนพากันกราบไหว้หมา นำแสดงโดยกฤษดา สุโกศล และธาริณี เกรแฮม ภาพยนตร์มีกำหนดฉายในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 (Bangkok Film Festival) ปี พ.ศ. 2540 แต่ถูกขัดขวาง และภาพยนตร์ถูกระงับห้ามฉายในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าดูหมิ่นศาสนาพุทธ คนกราบหมา ได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ ฮาวาย ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก ในปี พ.ศ. 2542 ขณะที่กองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง The Beach เดินทางทางถ่ายทำที่หาดมาหยา จังหวัดกระบี่ เธอเป็นผู้หนึ่งที่เดินทางมาร่วมประท้วง การทำลายสภาพแวดล้อมในระหว่างถ่ายทำ ได้ถ่ายทำวิดีโอไว้เป็นหลักฐานเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ปัจจุบันหันมาเป็นศิลปินวาดภาพ และเขียนหนังสือ ส่วนผลงานสารคดีเรื่องล่าสุดคือ พลเมืองจูหลิง ผลงาน หนังสือ * ช่างทำผมใจดี (2520) * ข้างหลังโปสการ์ด (2527) * Protest / photogr (2546) * นีโอ-ชาตินิยม : นิทรรศการศิลปการเมืองร่วมสมัย (2548) ภาพยนตร์ * Thailand for Sales (2534) เขียนบท * Green Menace : The Untold Story of Golf (2536) กำกับ, กำกับภาพ, เขียนบท * Casino Cambodia (2537) กำกับ, กำกับภาพ, เขียนบท * คนกราบหมา - My Teacher Eats Biscuits (2540) กำกับ, กำกับภาพ, เขียนบท * พลเมืองจูหลิง (2551) ผลงานร่วมกับ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และมานิต ศรีวานิชภูมิ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 0-2641-5177-8 www.houseama.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ