กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มเป็นลบ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha))
อันดับเครดิตของ BBL สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่มั่นคง สถานะเงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคาร นอกจากนี้อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเนื่องจากความสำคัญของ BBL ต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มีความเห็นว่าความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในปี 2552 จากการหดตัวที่รุนแรงของเศรษฐกิจโลก
ผลประกอบการของ BBL ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2551 โดยมีกำไรสุทธิ 20.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.2% ในส่วนของรายได้เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 แต่ในขณะเดียวกันการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ของ BBL แม้ว่าจะค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่ง เนื่องจาก BBL มีสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่กลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ในสัดส่วนที่สูงกว่า กำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 อยู่ที่ 9.8 พันล้านบาท ลดลง 8.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อปรับตัวลดลง 6.4% จากปลายปีก่อน ขณะที่ อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิลดลงเช่นกันในครึ่งปีแรกของปี 2552 มาอยู่ที่ 3.2% (3.5% ในครึ่งปีแรกของปี 2551)
ณ สิ้นปี 2551 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของ BBL ลดลงมาอยู่ที่ 4.7% ของสินเชื่อรวม จาก 7.9% ณ สิ้นปี 2550 เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 57.6 พันล้านบาท (55.1 พันล้าน ณ สิ้นปี 2551) นอกจากนี้สินเชื่อที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้คิดเป็นประมาณ 11% ของสินเชื่อรวม ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของ BBL ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 109.5% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารคู่แข่ง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงในเรื่องการตั้งสำรองยังคงมีอยู่เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง
BBL มีแหล่งเงินทุนในประเทศที่แข็งแกร่งและอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (รวมหนี้สินระยะสั้น) อยู่ที่ 73.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ขณะที่สถานะเงินกองทุนยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวม อยู่ที่ 12.9% และ 15.8% ของสินทรัพย์เสี่ยง ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ในขณะที่อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 10.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552
แนวโน้มเป็นลบของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคาร สะท้อนถึงความเสี่ยงที่สภาพเศรษฐกิจอาจอ่อนแอลงต่อเนื่องไปจนถึงปี2553 ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการทำกำไร และระดับเงินกองทุนของธนาคาร ปัจจัยที่ช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้แก่ระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคาร
BBL เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่ง 16.5% ของตลาดสินเชื่อ และ 20.1% ของตลาดเงินฝาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 ธนาคารถูกก่อตั้งในปี 2487 โดยตระกูลโสภณพนิช ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 โครงสร้างการถือหุ้นใน BBL ในปัจจุบันมีการกระจายตัวสูง โดยผู้ถือหุ้นต่างชาติ(ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน) มีสัดส่วนประมาณ 49% BBL มีสาขา 916 สาขาในประเทศ และ 19 สาขาในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงมีบริษัทในเครือซึ่งประกอบธุรกิจด้านหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจบริหารกองทุน โดยสินเชื่อในภูมิภาคมีสัดส่วนประมาณ 16% ของสินเชื่อรวม
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์, กรุงเทพฯ +662 655 4761; Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759