Microsoft-CCP “Web Services Architecture Center”

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday August 31, 2005 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
ความเป็นมา
สำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ (สสวค./CCP) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช./NSTDA) ได้ร่วมมือกับบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งศูนย์สถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิส (Web Services Architecture Center—WSAC) ขึ้น ณ ชั้น 3 อาคารกลุ่มนวัตกรรม 1 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยศูนย์ฯ แห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการยกระดับความรู้และความสามารถด้านสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์ ให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย
พันธกิจของ WSAC
WSAC มุ่งมั่นสู่การเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางด้านสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์ มีภาระกิจในการยกระดับความสามารถของนักเทคโนโลยีสารสนเทศมืออาชีพของไทยในการพัฒนา .NET เว็บเซอร์วิสคุณภาพระดับโลก ทางศูนย์ฯ จะประสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง CCP อุตสาหกรรมไอที และ ไมโครซอฟท์ ในการส่งเสริมศาสตร์แขนงสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์และการออกแบบซอฟต์แวร์ เพื่อการพัฒนา .NET เว็บเซอร์วิสที่ได้มาตรฐานสากลและมีความน่าเชื่อถือในระดับแนวหน้า
การดำเนินงานของ WSAC
- ดำเนินการศึกษาค้นคว้าและตีพิมพ์เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์
- ริเริ่มโครงการพิสูจน์ทราบในหลักการ (proof-of-concept projects) ร่วมกันกับ CCP อุตสาหกรรมไอที และ ไมโครซอฟท์ ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านต่างๆ ในการพัฒนาระบบงานและบริการที่มีความซับซ้อนในกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจสูง
- ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการด้านไอที เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์
- ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการจัดทำหลักสูตรอบรมด้านสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์
- ร่วมกับไมโครซอฟท์ในการให้การรับรองนักไอทีมืออาชีพสู่การเป็น “Microsoft Certified Architects”
- จัดทำเว็บท่า (Web portal) ด้วยเทคโนโลยีไมโครซอฟท์ เพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการปรึกษาหารือแบบออนไลน์ สำหรับหัวข้อที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์และการออกแบบซอฟต์แวร์
- เป็นเจ้าภาพและส่งเสริมการเกิดกิจกรรมร่วมภายในกลุ่มนักสถาปนิกซอฟต์แวร์ไทย เช่น การจัดทำแนวทางการฝึกอบรมและเกณฑ์การให้วุฒิบัตรรับรอง การจัดสัมมนา Thailand/APAC Architect Forum การจัดพบปะรายเดือนสำหรับ .NET Web Services SIG (Special Interest Group) เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการเว็บเซอร์วิสและผู้สนใจรายใหม่
- เปิดบริการคลีนิคสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหา และปรับแต่งการทำงานของระบบงานและบริการที่เกี่ยวข้องกับ .NET เว็บเซอร์วิส สำหรับภาครัฐและภาคเอกชน
กิจกรรมของ WSAC ในปีแรก 2548-2549
- จัดคอร์สฝึกอบรมด้านสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์ สำหรับบุคลากรด้านไอทีจำนวน 500 คน โดยมีทั้งคอร์สประเภทไม่เสียค่าใช้จ่ายและเสียค่าใช้จ่าย
- จัดสัมมนาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์ อย่างน้อย 2 ครั้งๆละ 1 วัน จำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งละประมาณ 300 คน
- จัดให้มีการพบปะรายเดือนสำหรับ .NET Web Services SIG (Special Interest Group) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งละประมาณ 80 คน
- ให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์ ประจำอยู่ที่ WSAC อย่างน้อย 7 คน โดยคาดหวังว่าจะมี Microsoft Certified Architects อย่างน้อย 2 คน
- จัดทำเว็บท่า (Web portal) ด้วยเทคโนโลยีไมโครซอฟท์ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์และการออกแบบซอฟต์แวร์
- พัฒนาโครงการไอทีที่ใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์และ .NET เว็บเซอร์วิส อย่างน้อย 3 โครงการ
- พัฒนาโครงการพิสูจน์ทราบในหลักการ (proof-of-concept projects) ร่วมกันกับ CCP อุตสาหกรรมไอที และ ไมโครซอฟท์ อย่างน้อย 2 โครงการ
- ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการด้านไอที เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์ อย่างน้อย 4 ราย
- เปิดบริการคลีนิคสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหา และปรับแต่งการทำงานของระบบงานและบริการที่เกี่ยวข้องกับ .NET เว็บเซอร์วิส สำหรับภาครัฐและภาคเอกชน อย่างน้อย 10 ครั้ง
- ตีพิมพ์เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเว็บเซอร์วิสสำหรับเทคโนโลยี .NET และด้านการออกแบบซอฟต์แวร์ อย่างน้อย 2 ฉบับ
สถานที่ตั้งของ WSAC
สำนักส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ (สสวค./CCP)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช./NSTDA)
ชั้น 3 อาคารกลุ่มนวัตกรรม 1
131 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
ปทุมธานี 12120
ติดต่อ: คุณมณีรัตน์ บุญพรหมอ่อน
โทรศัพท์: 0-2564-7206
โทรสาร: 0-2564-7203
e-mail: maneerat_b@ccp.nstda.or.th
การดำเนินงานของไมโครซอฟท์ในประเทศไทย
พันธกิจของไมโครซอฟท์
เป้าหมายของบริษัทฯ คือพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดที่จะให้พลังแก่คนไทยและธุรกิจไทยได้ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง โดยในประเทศไทยนั้น บริษัทฯ ดำเนินตามนโยบายดังนี้
- ส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด คือยุทธศาสตร์พื้นฐานของไมโครซอฟท์ การที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแทบทุกวันนั้น สิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มั่นคงได้คือการอบรมคนของเราให้เข้าใจถึงประโยชน์ของไอที ณ วันนี้ เราไม่ได้พูดถึงแค่การฝึกอบรมนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว แต่กำลังส่งเสริมให้คนไทยรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยประโยชน์ในชีวิตประจำวันของตน ในประเทศไทยนั้น ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้านไอซีที ด้วยการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการเพิ่มศักยภาพแก่ประชาชนรวมทั้งสร้างอนาคตของประเทศด้วย
ในเดือนมิถุนายน 2546 เราได้อบรมครูกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งเท่ากับการได้เข้าถึงนักเรียนจำนวน 422,000 คน โดยทำการอบรมทักษะพื้นฐานด้านไอซีที ซึ่งคาดว่าจะทำการอบรมเพิ่มเติมอีกหลายพันคนในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีครูที่ได้รับการอบรมให้เป็นวิทยากรด้านไอซีทีด้วย อีกทั้งมีการตั้งศูนย์ฝึกอบรมนำร่องขึ้น 4 แห่งในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ คือการเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีแก่คนไทยด้วยการให้ทักษะเพิ่มเติมนั่นเอง
ตามคำแถลงของ มร. บิล เกตส์ ไมโครซอฟท์จะส่งเสริมซอฟต์แวร์ราคาการศึกษาสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อนครูทั่วโลก สร้างสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิตอล และสร้างเว็บท่าเพื่อการเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ต โดยมีจุดประสงค์หลักคือ ส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดนั่นเอง
- สร้างระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นนโยบายสำคัญประการที่สองในการส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานและความมั่งคั่งในประเทศ เมื่อนักเรียนที่ได้รับการอบรมไปแล้วก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทักษะของพวกเขาก็จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโต ซึ่งเป้าหมายในส่วนนี้หมายถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรและนักพัฒนา ในปี 2547 เรามีพันธมิตรกว่า 2,000 รายที่ทำงานร่วมกัน และช่วยอบรมนักพัฒนาเป็นพันๆ คน การแถลงของ มร. บิล เกตส์ นับเป็นการย้ำว่า จะมีการอบรมครูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะไปถึงนักเรียนอีกนับแสนคน การอบรมนักพัฒนาอีก 69,000 คนรวมถึงผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ รวมทั้งจัดหาเครื่องมือและสร้างทักษะเพื่อเปิดตลาดในประเทศไปสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยโดยรวมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศด้วย
- นวัตกรรมบูรณาการ เป็นนโยบายสำคัญประการที่สามของบริษัทฯ หมายถึง การผนวกระบบและแอพพลิเคชั่นเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่องค์กร เมื่อนักเรียนนักศึกษาและนักพัฒนามีความชำนาญและทักษะด้านเว็บเซอร์วิสแล้ว เราหวังว่าพวกเขาจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เกี่ยวกับเว็บเซอร์วิสเพื่อส่งออกไปขายยังทั่วโลกต่อไป ซึ่งนวัตกรรมบูรณาการนั้นเกี่ยวข้องกับทุกๆ คนในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น e-Government และเอกชน ในประเทศไทยนั้น ไมโครซอฟท์ได้มีส่วนสนับสนุนองค์กรธุรกิจอยู่ตลอดเวลาในการเชื่อมโยงพนักงาน ระบบ และข้อมูลข่าวสารเข้าด้วยกันในรูปแบบที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการ Thailand.Net ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนรัฐบาลในการสร้าง ‘Web Services Super Hub’ เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ และสนับสนุนรัฐบาลไทยในการบูรณาการข้อมูลข่าวสาร หน่วยงานรัฐ รวมทั้งประชาชนเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ
- ส่งเสริมคุณค่าทางธุรกิจ ด้วยการทำให้องค์กรธุรกิจไทยและประเทศไทยได้ตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของซอฟต์แวร์ รวมถึงคุณค่านานัปการที่จะได้รับจากการใช้ซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายๆ องค์กร หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจโดยรวมเองก็ตาม ไม่ได้ตระหนักว่าซอฟต์แวร์สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิผลการทำงานได้อย่างไร ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร ดังนั้น เราจึงได้ลงทุนอย่างจริงจังในการสร้างศูนย์ Business Productivity Center ขึ้นในประเทศไทย เพื่อจัดแสดง สาธิตและทดสอบศักยภาพการทำงานของชุดซอฟต์แวร์ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้เปิดศูนย์ Microsoft Market Development Partner ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักถึงประโยชน์และคุณค่าของซอฟต์แวร์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์จะทำให้องค์กรได้เห็นถึงประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ ตัวอย่างเช่น การบินไทยสามารถประหยัดงบประมาณด้านซอฟต์แวร์ไปได้ถึงปีละ 40 ล้านบาท และเมื่อโครงการที่ มร. บิล เกตส์ แถลงไปเริ่มดำเนินการเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เราเชื่อว่าทุกอย่างที่เราทำไปนั้นจะช่วยผลักดันให้เกิดคุณค่าทางธุรกิจแก่องค์กรธุรกิจไทย รวมทั้งประชาชนไทยและเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด
.Net คือ อะไร
.Net คือ กลยุทธ์ทางด้านเว็บเซอร์วิสของไมโครซอฟท์ในการเชื่อมโยงข้อมูล ผู้คน ระบบและอุปกรณ์เข้าด้วยกันผ่านซอฟต์แวร์ เทคโนโลยี .Net ให้ประสิทธิภาพในการสร้าง ติดตั้ง จัดการและใช้โซลูชั่นที่เชื่อมต่อกันและมีการรักษาความปลอดภัยกับเว็บเซอร์วิสที่ทำงานประสานกันบนแพล็ตฟอร์มของไมโครซอฟท์ โซลูชั่นที่เชื่อมต่อกับ .Net ช่วยให้ธุรกิจผสมผสานระบบได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ใดก็ตาม
แพล็ตฟอร์มของไมโครซอฟท์ได้จัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจเพื่อให้องค์กรสามารถนำไปพัฒนาและติดตั้งสถาปัตยกรรมไอทีที่เชื่อมต่อกับเว็บเซอร์วิส เพื่อให้เซิร์ฟเวอร์นั้นสามารถทำงานบนเทคโนโลยีเว็บเซอร์วิสได้ รวมถึงความสามารถในการเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและการสร้างแอพพลิเคชั่นสำหรับการใช้งานและเครือข่ายทั่วโลกขององค์กรที่เป็น Microsoft Certified Partners กว่า 35,000 แห่งที่คอยให้ความช่วยเหลือยามที่คุณต้องการ
เว็บเซอร์วิสคืออะไร
หากคุณถามนักพัฒนาว่าเว็บเซอร์วิสคืออะไร คุณจะได้รับคำตอบในทำนองที่ว่า “โมดูลซอฟต์แวร์ที่สามารถสื่อสารกับโมดูลซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่มีการทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้ร่วมกัน มีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงได้ผ่านรูปแบบการสื่อสารในอินเทอร์เน็ตบนมาตรฐาน XML และ SOAP”
แต่ถ้าคุณถามผู้นำธุรกิจที่ได้ทดลองใช้โซลูชั่นที่ทำงานบนพื้นฐานของเว็บเซอร์วิส คุณจะได้รับคำตอบที่แตกต่างออกไป โดยคุณจะได้รับคำตอบว่า เว็บเซอร์วิสคือวิธีการที่ช่วยธุรกิจให้สามารถเชื่อมต่อกับลูกค้า พันธมิตรและพนักงาน พร้อมทั้งช่วยให้ธุรกิจสามารถขยายบริการที่มีอยู่ไปสู่ลูกค้ารายใหม่ ๆ ช่วยให้ธุรกิจทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และพันธมิตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกระจายข้อมูลเพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตามที่ต้องการ รวมทั้งยังช่วยในการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ คุณมักจะได้รับคำตอบเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเว็บเซอร์วิสต่อธุรกิจมากกว่าคำตอบที่ว่าเว็บเซอร์วิสคืออะไร
ประโยชน์ของเว็บเซอร์วิส
เว็บเซอร์วิสมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้แอพพลิเคชั่นสามารถใช้งานข้อมูลร่วมกันบนแพล็ตฟอร์มฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมไปถึง
- การเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจด้วยการให้คุณเชื่อมต่อกับพันธมิตรได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม
- การมอบประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวและครบวงจรมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมให้กับผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็วผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะรุ่นใหม่ อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
- ประหยัดเวลาและเงินด้วยการลดระยะเวลาในการพัฒนา
- เพิ่มการหมุนเวียนของรายได้โดยช่วยให้ธุรกิจสามารถเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเข้ามาใช้งานเว็บเซอร์วิสของตนได้อย่างง่ายดาย
การเชื่อมต่อแอพลิเคชั่นบนเทคโนโลยีเว็บเซอร์วิส
เว็บเซอร์วิสถือเป็นการปฏิวัติวิธีการในการสื่อสารกันระหว่างแอพพลิเคชั่นหรือหากจะกล่าวให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นก็คือการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ ด้วยรูปแบบข้อมูลที่เป็นสากลซึ่งช่วยให้สามารถประยุกต์หรือเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างง่ายดาย เว็บเซอร์วิสใช้ภาษาสากลในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต คือ XML จึงสามารถสื่อสารข้ามแพล็ตฟอร์มและระบบปฏิบัติการได้ไม่ว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะเขียนด้วยภาษาโปรแกรมอะไรก็ตาม
เว็บเซอร์วิสแต่ละตัว คือ หน่วยรหัสที่แยกจากกันซึ่งสามารถทำหน้าที่ได้ตามที่กำหนดมาให้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเว็บเซอร์วิสแต่ละชุดจะเป็นอิสระจากกันแต่ก็ยังมีความเกี่ยวพันกันอย่างหลวม ๆ ในฐานะของกลุ่มที่ร่วมมือกันเพื่อทำงานเฉพาะกิจ
ตัวอย่างเว็บเซอร์วิส: ระบบสินค้าคงคลังของคุณ
สมมติว่าคุณมีระบบสินค้าคงคลังแบบเดี่ยว ๆ หากคุณไม่เชื่อมต่อระบบดังกล่าวเข้ากับระบบอื่น ๆ มันก็จะไม่มีคุณค่ามากเท่าที่ควร ระบบสามารถทำได้แค่ตรวจสอบสินค้าคงคลังแต่ทำอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้นคุณจึงต้องใส่ข้อมูลสินค้าคงคลังสองรอบ รอบแรกสำหรับระบบบัญชีและรอบที่สองสำหรับระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ ระบบสินค้าคงคลังอาจจะไม่สามารถส่งคำสั่งไปยังซัพพลายเออร์ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งประโยชน์ของระบบคงคลังในลักษณะนี้จะลดน้อยลงเนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงมาก
แต่ถ้าคุณเชื่อมต่อระบบสินค้าคงคลังเข้ากับระบบบัญชีก็จะทำให้ระบบน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ว่าคุณจะซื้อหรือขายสิ่งใดก็ตาม สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงคลังและกระแสเงินหมุนเวียนสามารถตรวจสอบได้ในขั้นตอนเดียว หากคุณก้าวหน้าไปกว่านั้นด้วยการเชื่อมต่อระบบการจัดการคลังสินค้า ระบบการสั่งซื้อของลูกค้า ระบบการสั่งซื้อของและบริษัทขนส่งของคุณ ระบบการจัดการสินค้าคงคลังของคุณการทำงานก็จะคุ้มค่ามากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว คุณสามารถจัดการธุรกิจแบบเอนด์-ทู-เอนด์ได้ในขณะที่จัดการกับธุรกรรมแต่ละอย่างเพียงแค่ครั้งเดียวแทนที่จะต้องจัดการหลายครั้งกับทุก ๆ ระบบที่ธุรกรรมนั้นเกี่ยวข้อง ทำให้ทำงานน้อยลงรวมถึงมีโอกาสผิดพลาดน้อยลงอีกด้วย
การเชื่อมต่อเหล่านี้สามารถทำได้อย่างง่ายดายโดยอาศัยเว็บเซอร์วิสซึ่งจะทำให้แอพพลิเคชั่นสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันผ่านอินเทอร์เน็ตโดยไม่จำกัดระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์สำรองที่แอพพลิเคชั่นดังกล่าวใช้
เว็บเซอร์วิสใช้โปรโตคอลมาตรฐานอุตสาหกรรม
เว็บเซอร์วิสทำให้นักพัฒนาสามารถเลือกระหว่างการสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเองทั้งหมดหรือใช้เว็บเซอร์วิสที่ผู้อื่นสร้างขึ้น นั่นหมายความว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องสนับสนุนทุกส่วนเพื่อให้ได้โซลูชั่นที่สมบูรณ์แบบ
ความสามารถในการเผย (ประกาศและนำเสนอ)เว็บเซอร์วิสของคุณเองจะช่วยสร้างช่องทางรายได้ใหม่ ๆ ให้กับบริษัทของคุณ
เว็บเซอร์วิสทำงานบนอินเทอร์เน็ตตามวิธีการโปรโตคอลมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้แก่ SOAP, XML และ Universal Description, Discovery and Integration (UDDI) ที่ได้รับคำนิยามผ่านองค์กรมาตรฐานสาธารณะ อย่างเช่น World Wide Web Consortium (W3C)
SOAP คือ เทคโนโลยีส่งข้อความที่ใช้ภาษา XML ตามมาตรฐานของ W3C ซึ่งระบุกฏที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการกำหนดเว็บเซอร์วิส ผสมผสานเข้ากับแอพพลิเคชั่นและสื่อสารระหว่างเว็บเซอร์วิสด้วยกัน UDDI คือ การลงทะเบียนสาธารณะ ที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยผู้ใช้งานสามารถเผยแพร่และสอบถามเกี่ยวกับเว็บเซอร์วิสได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ