กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กระทรวงพลังงาน
เร่งผลักดัน E85 แก้ปัญหาเอทานอลล้นตลาด ย้ำประโยชน์เพื่อผู้ใช้น้ำมัน เกษตรกร และประเทศชาติ
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ ในงานเสวนาเรื่อง “E85 เชื้อเพลิงไทย เพื่อคนไทย” ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมพลังงานทดแทน เพื่อเป็นการแก้ไขวิกฤตน้ำมันอย่างยั่งยืน ที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี พ.ศ.2551-2565 โดยเฉพาะการขยายความต้องการใช้แก๊สโซฮอล์ โดยมีเป้าหมายให้มีการใช้เอทานอลให้ได้วันละ 9 ล้านลิตรในปี 2565 จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตเอทานอลสูง ณ ปัจจุบัน มีโรงงานที่ผลิตจริง 11 แห่ง กำลังการผลิตเฉลี่ย 1.18 ล้านลิตร/วัน คาดว่าจะมีโรงงานผลิตเพิ่มในปี 52 - 53 อีก 7 ราย กำลังผลิต 2.22 ล้านลิตร/วัน ดังนั้นในปลายปี 53 จะมีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 3.40 ล้านลิตร/วัน
นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E85 ในส่วนของรถยนต์ FFV(Flex Fuel Vehicle) ปัจจุบัน บริษัทรถยนต์ได้เปิดสายการผลิตรถ FFV ในประเทศและ จำหน่ายรถ FFV ไปแล้วกว่า 100 คัน และจะมีบริษัทอื่นเปิดสายการผลิตเพิ่มเติมอีกเร็วๆ นี้ และได้ความคืบหน้าอื่นๆ ได้แก่ 1)มีการอนุมัติค่าใช้จ่ายจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเงิน 357 ล้านบาท เพื่อชดเชยส่วนต่างภาษีสรรพสามิต 3% แก่รถ FFV แล้ว โดยกระทรวงพลังงานได้ออกประกาศให้ผู้นำเข้าและผู้ผลิตรถ FFV เข้าร่วมโครงการแล้วตั้งแต่ 6 มิ.ย.52 2)การลดอากรนำเข้ารถยนต์ FFV จาก 80% เหลือ 60% ปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ร่างประกาศเสร็จแล้ว ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นภายในวันที่ 10 ส.ค. 52 เพื่อเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนาม 3)การทดสอบมลพิษและคำนวณอัตราความสิ้นเปลือง โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทดสอบเพื่อออกใบอนุญาตให้จำหน่ายรถในประเทศได้ และ ประสานกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ทดสอบค่ามลพิษและคำนวณอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้วย E85 เพื่อให้บริษัทรถ FFV รับสิทธิส่วนลดภาษีสรรพสามิต 3% 4)การศึกษาอากรนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถ FFV เพื่อลดอากรนำเข้าให้เหลือ 0% ที่ได้ข้อสรุปว่าจะให้นำเข้าเป็นแพ็กเกจที่เรียกว่า CKD เพื่อการตรวจสอบและควบคุมได้ง่าย โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จะจัดทำรายละเอียดเสนอเพื่อพิจารณาต่อไป
การส่งเสริม E85 เป็นการสร้างความมั่นคงทางการจัดการพลังงานของประเทศ ลดการนำเข้าน้ำมัน ลดมลพิษและช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน รวมทั้งสร้างโอกาสในการปรับโครงสร้างการผลิตพืชเกษตรไปสู่การต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยการปลูกพืชพลังงานจะมีความแน่นอนด้านการตลาด ราคามีเสถียรภาพ นำไปสู่การมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร นอกจากนั้นยังจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้บูรณาการกับการพัฒนาพลังงาน (Agro-Energy Industry) ซึ่งจะสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประเทศโดยรวมต่อไป.