“ช้างไถนา” : ภูมิปัญญาชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ข่าวท่องเที่ยว Thursday August 6, 2009 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--บ้านแสนดอยรีสอร์ท แอนด์ สปา บ้านแสนดอยรีสอร์ท แอนด์ สปา และห้องอาหารแสนคำเทอร์เรส จัดกิจกรรมช้างไถนาที่บ้านแสนดอย สืบทอดภูมิปัญญาบรรพบุรุษได้ฤกษ์วันดี วันที่ 8 เดือนที่ 8 บนพื้นที่ 8 ไร่ โดยใช้ช้าง 8 เชือก และเริ่มเวลา 08.08น. คุณวันเพ็ญ ศักดาทร และคุณฮาเกิน เอ.เว. เดียร์คเซิน กงสุลกิตติมศักดิ์สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านแสนดอยรีสอร์ท แอนด์ สปา และห้องอาหารแสนคำเทอร์เรส เล่าถึงที่มาของกิจกรรมช้างไถนาว่าเกิดจากแนวคิดของ ฯพณฯ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ซึ่งท่านเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ.2539 - 2541 อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่หลายท่าน อาทิเช่น นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2549 — 2550 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2550 — 2552 และ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่คนปัจจุบัน นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ และในงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.ชต.) อดีตนายอำเภออมก๋อย ปี 2532 มาเป็นประธานในกิจกรรมช้างไถนาที่บ้านแสนดอยดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีบุคลากร และหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนในการจัดงานครั้งนี้ อาทิ นายเฉลิมศักดิ์ สุรนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่, นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแอลลี่ (Elephant Life Experience - E.L.E.), นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน นายอำเภออมก๋อย, คุณอัครเดช นาคบัลลังค์ จากสบันงา และสายการบินนกแอร์ เป็นต้น คุณวันเพ็ญ ศักดาทร กล่าวถึงกิจกรรมเพิ่มเติมว่า “การใช้ช้างไถนาความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านนาเกียน หมู่ 3 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้ช้างไถนามาหลายชั่วอายุคนแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เนื่องจากสภาพพื้นที่ตั้งอยู่บนยอดเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 — 1,600 เมตร และตัวอำเภออมก๋อยอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึง 179 กิโลเมตร ขณะที่บ้านนาเกียนเอง แม้จะอยู่ห่างตัวอำเภอเพียง 39 กิโลเมตร แต่ใช้ระยะเวลาเดินทางเกือบ 3 ชั่วโมง ด้วยความทุรกันดารของหนทาง จึงยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำนาดำแบบขั้นบันได และปลูกพืชไร่เพื่อเลี้ยงชีพ และข้อจำกัดด้านภูมิศาตร์อันเป็นที่ลาดเชิงเขา มีหินปะปนอยู่มาก ทำให้การไถนาด้วยควายทำงานได้น้อยและเหนื่อยง่าย ประกอบกับในวิถีชีวิตชาวบ้านราว 100 ครัวเรือน หรือ 500 กว่าคน เลี้ยงช้างไว้ 20 กว่าตัว แต่ปล่อยให้หากินเองในป่า เมื่อถึงฤดูกาลทำนา จึงเข้าไปจับช้างที่เลี้ยงไว้มาไถนา เพราะเห็นว่าเป็นสัตว์ใหญ่ แข็งแรงกว่าวัว ควาย และยังสามารถไถนาได้พื้นที่มากกว่าในระยะเวลาที่เท่ากัน โดย 1 แรงช้าง เท่ากับ 4 แรงวัว/ควาย นั่นหมายความว่าช้าง 1 เชือก ลากคันไถได้ตั้งแต่ 1-4 คันไถ แถมยังไม่ต้องพักเหนื่อย เพราะการไถนาถือเป็นงานเบาสำหรับช้าง เมื่อเทียบกับงานลากไม้ซุงในอดีต ความแตกต่างอีกประการหนึ่งของการใช้ช้าง กับวัวหรือควาย ก็คือช้างไถนา 1 เชือก ต้องใช้คนถึง 3 คนเป็นอย่างน้อย โดยคนแรกคือควาญบังคับช้าง คนที่ 2 รับหน้าที่จูงช้างให้เดินตามแนวที่ต้องการไถ และคนสุดท้ายจับคันไถ ขณะที่วัว หรือควาย ใช้เพียงคนเดียวก็สามารถไถนาได้ ดังนั้นชาวเขาเผ่ากะเหรียงบ้านนาเกียน จึงนิยมไถนาในลักษณะ“ลงแขก” หมุนเวียนช่วยกันจนกว่าจะแล้วเสร็จ ทว่าระยะหลังความเจริญหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่มากขึ้น รถไถนามีบทบาทค่อนข้างสูง ส่งผลให้การใช้ช้างลดลง แต่ปัญหาวิกฤติน้ำมันแพงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ชาวบ้านหันกลับมาพึ่งพาช้างไถนาอีก จนเชื่อมั่นได้ว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษบ้านนาเกียน จะยังคงอยู่ และสืบทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไป คุณวันเพ็ญ ศักดาทร เล่าถึงภาพงานว่า “เราจะเชิญชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจากบ้านนาเกียนที่ผ่านประสบการณ์ใช้ช้างไถนามาร่วมสาธิตและดูแลการไถนาของช้าง 2 เชือก ได้แก่ พังขวัญจิต กับพลายสมใจ จากปางช้างแอลลี่ (Elephant Life Experience - E.L.E.) ต.แม่ตะมาน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีลูกช้างคำตุลย์ กับทองพูน มาคอยให้กำลังใจและต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน โดยช้างคำตุลย์ กับทองพูนจะถูกตกแต่งด้วยเครื่องแต่งตัวแบบเผ่ากะเหรี่ยง เช่นเดียวกับแขกที่เข้าร่วมงาน ก็จัดเตรียมเครื่องแต่งกายเผ่ากะเหรี่ยงไว้ให้ใส่ลงแปลงนาด้วย ปลูกข้าว 4 สายพันธุ์เพื่อสุขภาพผู้บริโภค หลังจากช้างไถนาเสร็จแล้วจะเป็นการปลูกข้าว ที่ใช้ต้นกล้า 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิสันป่าตอง, ข้าวก่ำดอยสะเก็ด และข้าวหอมมะลิแดงและข้าวหอมนิล ซึ่งล้วนเป็นพันธุ์ข้าวเก่าแก่ของท้องถิ่น และมีคุณสมบัติโดดเด่นเฉพาะตัว อย่างข้าวหอมมะลิสันป่าตอง มีเม็ดอ้วนเล็กน้อย เวลาหุงถ้าได้แช่น้ำไว้สักครึ่งชั่วโมงจะนิ่ม lส่วนข้าวก่ำดอยสะเก็ด มีสีออกแดงม่วง เป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคและแมลงตามธรรมชาติ ชาวล้านนาถือว่าข้าวก่ำเป็นพญาข้าวที่สามารถสังเคราะห์ ปล่อยสารที่ช่วยป้องกันแมลงและโรคให้แก่ข้าวพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกใกล้เคียงกันได้ จึงมีการปลูกไว้ตามหัวนา เพื่อให้น้ำที่จะปล่อยเข้านาไหลผ่านต้นข้าวก่ำก่อน ส่วนสารสีม่วงแดงของเปลือกหุ้มเมล็ดข้าวก่ำ เรียกว่าแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และแกมมาโอไรซานอล (Gamma Oryzanol) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีผลดีต่อสุขภาพ ป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเส้นเลือด ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกระเพาะ ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด จึงมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ข้าวก่ำเป็นสมุนไพรสำหรับหญิงที่ตกเลือดในขณะคลอดบุตร ใช้ทำเป็นข้าวหลามรักษาโรคท้องร่วง และใช้ข้าวก่ำผสมกับดินประสิว ช่วยรักษาโรคหิด ฯลฯ สำหรับข้าวหอมมะลิแดง มีคุณประโยชน์มากกว่าข้าวเจ้าทั่วไป เพราะมีสารอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน โปรตีน ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กในปริมาณสูงมาก ขณะเดียวกันก็มีทั้งวิตามินเอ, บี, ซี คุณสมบัติใช้รักษาโรคได้อย่างหลากหลาย เช่น ป้องกันโรคหัวใจ แขนขาไม่มีกำลังวังชา นอนไม่หลับ รักษาอาการมือเท้าบวม มีผื่นขึ้น ระบบย่อยอาหารไม่ปกติ มีลมในท้อง และลำไส้ โดยปรกติแล้วทางบ้านแสนดอยจะมีการทำนาข้าวอินทรีย์ และจำหน่ายผลผลิตหารายได้ช่วยการกุศลทั้งโรงพยาบาล และ โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร เป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2551 ที่ผ่านมา ได้นำรายได้จำนวน 500,000 บาท จากการขายข้าวถุงละ 1,000 บาท ไปมอบให้กับโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และในปี 2552 นี้ มีเป้าหมายที่จะนำรายได้ส่วนหนึ่งไปมอบให้กับโรงพยาบาลอมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ถือได้ว่ากิจกรรมครั้งนี้มีประโยชน์รอบด้าน ไม่เพียงแค่เกิดผลผลิตข้าวคุณภาพเหมาะสมต่อผู้บริโภค และได้กุศลจากการนำรายได้บริจาคช่วยองค์กรต่างๆ เท่านั้น หากยังเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ให้คนทั่วโลกได้รู้จักช้างไทยในอีกมิติหนึ่งที่ไม่เคยปรากฏแพร่หลายมาก่อน แต่สามารถพิสูจน์และสัมผัสได้อย่างแท้จริง ณ บ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กิจกรรม ช้างไถนา ที่บ้านแสนดอย วันที่ 8 เดือนที่ 8 บนพื้นที่ 8 ไร่ โดยใช้ช้าง 8 เชือก และเริ่มเวลา 08.08น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ