กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--เอดีทูวาย คอมมิวนิเคชั่น
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์นามอุโฆษ เคยกล่าวไว้ว่า “ความฟั่นเฟือนคือการทำสิ่งเดิมๆ แล้วคิดว่าผลที่ได้จะต่างออกไปจากเดิม” นั่นแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่คนเราต้องทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเดิม เพื่อจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างหรือดีกว่าเดิม ซึ่งคนที่จะทำสิ่งที่ต่างออกไปจากกรอบหรือขนบเดิมๆ ได้ คนๆ นั้นต้องมี “ความคิดสร้างสรรค์” เพราะไอน์สไตน์มีสิ่งสำคัญนี้ เขาจึงได้ค้นพบทฤษฎีต่างๆ มากมายที่เปลี่ยนแปลงโลกของเราจนถึงปัจจุบัน
เพราะเป็นองค์กรธุรกิจที่ได้ชื่อว่าสนับสนุนให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งศักยภาพที่มีอยู่ในตัวมาโดยตลอดปีนี้ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ได้ดำเนินโครงการ SCBS Young Star Investor 2006 “ต้นกล้าความคิด สู่ธุรกิจสร้างสรรค์” โดยเปิดโอกาสให้ให้น้องๆ เยาวชนวัย 15-18 ปี ได้คิดค้นธุรกิจที่ตัวเองใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของ เป็นธุรกิจแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครมาแข่งขันกัน จากนั้น บริษัทฯ จะได้คัดเลือกเจ้าของแผนธุรกิจจำนวน 20 คน เข้าค่าย “The Power of Creative Thinking” เพื่อเพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตและธุรกิจการงานของน้องๆ ในอนาคต โดย อ. ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเชิงธุรกิจ ให้เกียรติมาเป็นที่ปรึกษาโครงการและผู้นำค่าย
“จากงานวิจัยคนที่ประสบความสำเร็จในงานว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของคนกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง พบว่า 86% ของคนที่ประสบความสำเร็จมีคุณสมบัติ 2 อย่างที่เหมือนกันคือ 1. มีมนุษยสัมพันธ์ 2. มีความคิดสร้างสรรค์
ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงมีความสำคัญกับคนเรา ทำให้เรามีวิธีการในการดำเนินชีวิตที่ต่างไปจากเดิม คือเมื่อมีความคิดสร้างสรรค์ ชีวิตแต่ละวันของคนเราจะเต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีการเรียนรู้ ได้พัฒนาตนเอง แม้ทำบางอย่างไม่สำเร็จแต่เราก็ได้เรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จอย่างที่งานวิจัยออกมา งานทุกอย่าง ทุกวงการต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คนที่คิดแตกต่าง” อ. ศรัณย์ ย้ำถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ว่า
“ความคิดสร้างสรรค์ เหมือนเปลวเทียน เราทุกคนเกิดพร้อมความคิดสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ นั่นแหละคือพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ ตอนเด็กเปลวเทียนแห่งความคิดสร้างสรรค์ยังลุกโชนอยู่ แต่เวลาผ่านไปเริ่มมีแก้วมาครอบเปลวเทียนนานไปเปลวเทียนก็ดับ ซึ่งในแต่ละคนดับไม่พร้อมกัน แล้วแต่ว่าแก้วที่มาครอบนั้นมาเร็วแค่ไหน
“เด็กไทยเรานั้น หากเทียบกับเด็กชาติตะวันตก ความคิดสร้างสรรค์ของเราอาจจะมีน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มี เพียงแต่เด็กบ้านเราอาจเผชิญกับแก้วที่มาครอบมากกว่าเด็กบ้านเขา แต่ถ้าเทียบกับคนสมัยก่อน เด็กยุคนี้ก็มีมากกว่า เพราะพ่อแม่หรือผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะเข้าใจมากขึ้น สร้างกรอบที่เป็นเสมือนแก้วครอบน้อยลง จากที่เน้นเรื่องราวที่เป็นวิชาการหรือสมองซีกซ้าย ก็หันมาให้ความสำคัญกับงานศิลปะ ดนตรี ที่เน้นการทำงานของสมองซีกขวามากขึ้น
“ผมอยากจะบอกว่าความคิดสร้างสรรค์พัฒนากันได้ ฝึกกันได้ เพียงแต่เราต้องหากรอบหรือแก้วที่ครอบให้เจอ แล้วทำลายกรอบนั้นเสีย”
ค่าย “The Power of Creative Thinking” จะช่วยทำให้เด็กๆ เข้าใจธรรมชาติของความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น มั่นใจที่จะคิดสร้างสรรค์ และรู้ว่ากรอบที่มาครอบคืออะไร
“เราจะทำให้เด็กๆ มั่นใจว่าเขาสามารถคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะมีงานวิจัยว่าอะไรทำให้คนเราคิดสร้างสรรค์ได้หรือไม่ได้ พบว่าความแตกต่างระหว่างคน 2 กลุ่มนี้ คือ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเชื่อและมั่นใจว่าเขามีความคิดสร้างสรรค์ “ความมั่นใจ” จึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างแรกเลย
“ค่ายนี้จะมี work shop ต่างๆ ที่ช่วยให้เด็กๆ ค้นหากรอบที่ครอบเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนิสัย ความคิดความเชื่อ การเลี้ยงดูที่ผ่านมา พอรู้กรอบแล้วก็มาหาทางทำลายกรอบนั้นสีย เพื่อให้เขามีความคิดที่เป็นอิสระขึ้น พอเป็นอิสระ ความคิดสร้างสรรค์ก็เกิดได้ง่ายขึ้น
“เมื่อมั่นใจและมีความคิดเป็นอิสระขึ้นแล้ว เราก็จะให้เด็กค้นพบศักยภาพของเขาด้วยตัวเขาเอง จะไม่คิดแทนเขา แต่เราจะให้เครื่องมือกับเขาในการค้นหา ไม่ว่าจะเป็นการให้ไปศึกษา CASE STUDY การให้แบบทดสอบ MBTI (Myers Briggs Type Indicator) ที่จะช่วยให้เขาค้นพบว่า ความถนัดในความคิดสร้างสรรค์ 8 แบบนั้น เขาถนัดกลุ่มไหน หรือเรียนรู้การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สู่นวัตกรรม สร้างคุณค่าใหม่ๆ ในเชิงธุรกิจด้วย simplex 1-8 เป็นต้น เมื่อจบค่ายนี้เด็กๆ จะกล้าที่จะคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งรู้ว่าจะคิดได้อย่างไร”
ทางด้านผู้บริหาร บล.ไทยพาณิชย์ นางดารากร นิมมานเหมินท์ ผู้อำนวยการสำนักผู้บริหารและสื่อสารองค์กร และผู้ดูแลโครงการเปิดเผยว่า “เป็นโครงการเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของน้องๆ และต้องการเปิดประตูความคิดของเด็กไทยสู่โลกธุรกิจและการลงทุนอย่างสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ สำหรับปีนี้จัดเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับจากน้องทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นทุกปี การจัดกิจกรรมในครั้งนี้บริษัทฯ มุ่งหวังเพียงแต่ต้องการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจให้เยาวชน โดยเน้นส่งเสริมให้นักเรียนได้ค้นพบศักยภาพที่แท้จริงตั้งแต่ยังเยาว์วัย กล้าคิด กล้าแสดงออก ที่สำคัญเด็กๆ จะได้เรียนรู้การนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ประกอบการดำเนินธุรกิจในโลกแห่งความเป็นจริงที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้เยาวชนได้ค้นพบตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาต่อ เด็กๆจะได้ค้นพบตนเองว่าชอบอะไร เพราะบางคนกว่าจะรู้ว่าชอบอะไรก็สายเกินไป
อย่างไรก็ตามผลงานที่เด็กๆ ส่งเข้ามาจะสะท้อนให้เห็นมุมมอง และความคิดสร้างสรรค์ ที่เกิดจากสิ่งรอบๆ ตัวเขามาพัฒนาให้เป็นธุรกิจได้เพราะเราหวังสร้างให้เยาวชนเป็นนักคิด นักพัฒนาเป็นรากฐานที่สำคัญในการผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปค่ะ”
น้องๆ คนไหนอยากเป็นส่วนหนึ่งของค่าย The Power of Creative Thinking เพื่อเพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง อย่าช้า...คิดแผนธุรกิจของตนเองแล้วส่งไปไปร่วมโครงการ SCBS Young Star Investor 2006 “ต้นกล้าความคิด สู่ธุรกิจสร้างสรรค์” โดยส่งผลงานมาที่ ตู้ ปณ.1498 บางรัก กรุงเทพฯ 10500 วงเล็บมุมซอง SCBS Young Star Investor 2006 “ต้นกล้าความคิด สู่ธุรกิจสร้างสรรค์“ เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ก.ค. 2549 สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2636 -0808 หรืออ่านรายละเอียดได้ที่ www.scbs.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
กษมา เกรียงวีระยุทธ
บล. ไทยพาณิชย์ โทร.0 2686-2373
ผกากานท์ ภู่ระโหง (ลูกหยี) ประชาสัมพันธ์โครงการ โทร.0 1489-8419
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net