กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กระทรวงพลังงาน
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังการสัมมนาเรื่อง “คาร์บอนเครดิตกับการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ณ โรงแรมเรดิสันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากภาวะเรือนกระจกเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกประเทศให้ความสำคัญจนกระทั่งเกิดเป็นข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) แล้วในประเทศไทย โดยมี 86 โครงการ ได้รับจดหมายรับรอง (Letter of Approval: LoA) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ว่าเป็นโครงการที่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์การ พัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย และมี 18 โครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ CDM โดยมี 2 โครงการที่ได้รับใบรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตแล้ว
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อการพัฒนาโครงการ CDM ภายใต้พิธีสารเกียวโต ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประโยชน์และโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ CDM พพ. จึงได้จัดทำคู่มือการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ภาคพลังงานขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาโครงการ CDM โดยแสดงข้อมูลหลักเกณฑ์และลักษณะโครงการที่จะเข้าข่ายเป็นโครงการ CDM ขั้นตอนการดำเนินโครงการ และตัวอย่างของโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ CDM แล้วเป็นต้น
นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่ารายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต นอกจากจะเป็นผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ผู้พัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานจะได้รับ นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในการร่วมดำเนินกิจกรรมกับประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ พพ. อยู่ในระหว่างดำเนินการนำคู่มือการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ภาคพลังงาน เผยแพร่ในเว็ปไซต์เพื่อให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้เร็วๆ นี้ ที่ www.dede.go.th