กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กฟผ.
กฟผ. ร่วมกับ สวทช. จัดตั้งโครงการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาในกิจการไฟฟ้าให้กับประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นการต่อยอดผลงานวิจัย เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ใน “โครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สวทช.” โดยมี นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. และ รศ. ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมลงนาม ณ ห้อง 201 อาคารสำนักผู้ว่าการ สำนักงานกลาง กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศ จึงเป็นทั้งผู้ใช้และผู้นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ปัจจุบัน กฟผ. มีงานวิจัยและพัฒนาภายในหน่วยงานอยู่แล้วเป็นบางส่วน และทราบว่า สวทช. เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศ ที่มีทีมงานบริหารด้านการวิจัยแบบมืออาชีพ ทั้งมีนักวิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญระดับสูง อยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ สวทช. ยังได้สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนอยู่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ กฟผ. และ สวทช. จึงมีความเห็นร่วมกันในการจัดตั้ง “โครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ.—สวทช.” เพื่อร่วมกันสนับสนุนทุนวิจัยให้กับหน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่สำหรับพัฒนากิจการไฟฟ้า ทั้งในด้าน การผลิต การกักเก็บ และการส่งกระแสไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานในปีแรก กฟผ. และ สวทช. จะร่วมกันสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินงาน ฝ่ายละ 20 ล้านบาท โดยเปิดบัญชี “กองทุนร่วมสนับสนุนทุนวิจัย กฟผ.- สวทช.” โดยมีคณะกรรมการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยมาจากผู้แทนทั้ง 2 ฝ่าย ทำหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติการจ่ายเงินร่วมสนับสนุนทุนวิจัยดังกล่าว ทั้งนี้ กฟผ. มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านกิจการไฟฟ้า เพื่อตอบสนองพันธกิจขององค์กรที่มุ่ง “ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย.”
ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวว่า การร่วมกันจัดตั้งโครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สวทช. ในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความเห็นพ้องต้องกันระหว่าง กฟผ. ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศในกิจการไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และมีนโยบายสนับสนุนโครงการวิจัยด้านพลังงาน กับ สวทช. ที่เห็นความสำคัญด้านพลังงานของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาก สวทช. ซึ่งมีพันธกิจในการสร้างความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจัดตั้ง “คลัสเตอร์พลังงานทดแทน” ขึ้นเพื่อสนับสนุนงานวิจัยให้กับนักวิจัยในหน่วยงานต่างๆ โดยอาศัยการบริหารจัดการภายใต้ฝ่ายบริหารจัดการคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย หรือ CPMO โดยอาศัยยุทธศาสตร์การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรวิจัย และการบริหารจัดการเชิงบูรณาการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยที่ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน และต่อยอดผลงานวิจัยในภาพรวม
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวตอนท้ายว่า สวทช. เชื่อมั่นว่า การร่วมทุนสนับสนุนการวิจัยระหว่างสองหน่วยงาน โดยใช้กลไกการบริหารจัดการงานวิจัย ของ สวทช. ในครั้งนี้ จะมีส่วนผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือ ทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า สามารถบริหารจัดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน