กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กทม.
นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อประชุมพิจารณางบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักการคลัง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย สำนักระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อม โดยมีนายประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 4-6 สภากรุงเทพมหานคร
แนะร่วมทุนสร้างปั้มก๊าซ NGV หารายได้เข้ากทม.
โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯได้ตั้งข้อสังเกต การจัดซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้สำนักเทศกิจ ของกองทะเบียนทรัพย์สิน สำนักการคลัง ขณะนี้พบว่าประสบปัญหาชำรุดและขาดอะไหล่ในการซ่อมบำรุง รวมทั้งยังไม่มีศูนย์บริการ ควรให้ความสำคัญในจัดซื้อ โดยจะต้อง หาบริษัทที่มีมาตรฐานในการบริการหลังการขายเพื่อดูแลรักษารถมอเตอร์ไซค์ ทั้งนี้ควรที่จะแก้ปัญหาโดยการมอบหมายให้ทาง 50 สำนักงานเขต มีอำนาจในการจัดซื้อรถมอเตอร์ไซด์เพื่อลดภาระของสำนักการคลัง
อีกทั้งปัจจุบันมีการสร้างบ้านเรือนรุกล้ำในริมแม่น้ำเจ้าพระยาและริมคูคลองต่างๆ เห็นควรมอบหมายให้ทุกสำนักงานเขตสำรวจและจัดเก็บภาษีโรงเรือน รวมทั้งกรุงเทพมหานครจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดยานยนต์ในเขตเทศบาลและสุขาภิบาล 2503 ที่ระบุในมาตรา 5 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจเท่านั้น ซึ่งกฎหมายมีความล้าหลังและ ไม่เป็นประโยชน์ จำเป็นจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพื่อให้อำนาจกรุงเทพมหานครโดยว่าจ้างบริษัทเอกชนมาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บแทนเจ้าหน้าที่ซึ่งขณะนี้มีเพียง 36 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดูแลในพื้นที่ริมถนน 66 เส้น และควรนำเข้าเทคโนโลยี ตู้หยอดเหรียญเพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้และเพิ่มกล้องวงจรปิด CCTV ช่วยตรวจตราและจับกุมผู้ฝ่าฝืน และจะช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่และเป็นการฝึกระเบียบให้กับประชาชน และควรประสานไปยังบริษัท ปตท. เข้ามาลงทุนสร้างปั้มก๊าซ NGV เพิ่มอีก 1 จุดในพื้นที่กทม.2 เขตดินแดง เพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชน อีกทั้งในอนาคตจะมีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น ควรมีนโยบายขยายปั้มก๊าซ NGV โดยการร่วมทุนกับเอกชนในการดำเนินงานเพื่อที่จะนำรายได้เข้าสู่ระบบอีกทางหนึ่งด้วย
ตั้งศูนย์เชื่อมภาพ CCTV ติดตามระงับเหตุเพลิงไหม้ได้ทันที พร้อมสร้างโรงเรียนดับเพลิง กทม. ในอนาคต
สำหรับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย คณะกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ควรบูรณาการในการวางแผนและป้องกันสาธารณภัยเพื่อให้สอดรับกับแผนนโยบายระดับชาติในการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยของรัฐบาล อีกทั้งควรเพิ่มเนื้อหาในส่วนของคู่มือที่จะทำแจกให้กับเจ้าของอาคารและผู้อยู่อาศัยซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการให้ความรู้และมีส่วนร่วมในการป้องกันภัยมากขึ้น และควรเพิ่มประปาหัวแดงในชุมชนที่รถดับเพลิงขนาดใหญ่เข้าถึงได้ยาก อีกทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจะสามารถใช้ในการต่อน้ำเพื่อป้องกันได้รวดเร็วหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ รวมถึงฝึกอบรมให้กับเจ้าของอาคารและผู้ที่อาศัยอยู่ในตัวอาคารให้มีความรู้ในการป้องกันและช่วยเหลือตัวเองหากมีเหตุเพลิงไหม้ และควรจะต้องฝึกอบรมและซักซ้อมให้เจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้พาหนะและอุปกรณ์ดับเพลิง ทั้งนี้ในพื้นที่สำคัญๆ จำเป็นที่จะต้องมีศูนย์เพื่อคอยดูแลและสามารถติดตามภาพจากกล้องวงจรปิด CCTV สำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการเฝ้าระวังและป้องกันหากมีเหตุเพลิงไหม้ พร้อมทั้งในอนาคตกรุงเทพมหานครจะต้องมีโรงเรียนดับเพลิงเพื่อสร้างบุคลากรมีศักยภาพ อีกทั้งควรจะต้องมีศูนย์บัญชาการขนาดใหญ่ที่จะคอยควบคุมและสั่งการในการป้องกันและเข้าระงับเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้พิจารณาและตั้งข้อสังเกตการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครกันอย่างกว้างขวาง พร้อมมอบหมายให้ทางหน่วยงานที่ได้รับการพิจารณานำเอกสารเพิ่มเติมมายื่นให้ทางคณะกรรมการฯ เพื่อการพิจารณากลั่นกรองรายละเอียดในการประชุมครั้งต่อไป