กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
สมาคมโรคเต้านมฯ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่ ลดปัญหาเรื่อง แขนบวมหลังผ่าตัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ให้สามารถได้รับการรักษาอย่างมีมาตรฐานที่ดีมากขึ้นอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
พลตรีนพ.สุรพงษ์ สุภาภรณ์ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันพบว่าโรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิงไทย และเป็นอันดับแรก ๆ เทียบเท่ากับมะเร็งปากมดลูก และจากข้อมูลการรักษาในปัจจุบันพบว่าในกลุ่มผู้ป่วย ที่มาพบแพทย์และได้ผลการรักษาที่ไม่ค่อยดีนัก มักเนื่องมาจากพบภาวะมะเร็งช้าเกินไป หรือ ตรวจพบแต่ไม่ยอมมาปรึกษาแพทย์ ดังนั้นทางสมาคมจึงแนะนำให้หญิงไทยทั่วไป เริ่มตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป และควรตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมและตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปเพื่อให้ได้รับการรักษาได้เร็วที่สุดในกรณีที่พบว่าเป็นมะเร็ง
พันเอกพิเศษนพ.วิชัย วาสนสิริ แพทย์ประจำกองศัลยกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า กรรมการสมาคม ฯกล่าวว่า การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่ที่เรียกว่า การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel lymph node dissection) นั้นเป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้ในการวินิจฉัยการกระจายของมะเร็งมายังบริเวณต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้โดยพิสูจน์ว่า ต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่จะตรวจพบการแพร่กระจายของมะเร็ง ที่เรียกว่าต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล นั้นมีการกระจายของเซลล์มะเร็งมาหรือไม่และหากพิสูจน์ได้ว่ายังไม่มีการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองนี้ก็ไม่มีความจำเป็นในการเลาะต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในระดับลึกลงไป
สำหรับวิธีการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล มีขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ศัลยแพทย์จะฉีดสีพิเศษหรือสารกัมมันตรังสีเข้าไปที่บริเวณเต้านม เพื่อศึกษาทางเดินน้ำเหลืองว่ามะเร็งจะเคลื่อนที่ไปตามทางเดินน้ำเหลืองทิศใดบ้างและ ทิ้งไว้ประมาณ 5-10นาที ขั้นตอนที่ 2 ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดด้วยแผลขนาดเล็กที่รักแร้เพื่อตัดต่อมน้ำเหลืองที่ติดสีหรือตรวจพบกัมมันตรังสี ที่เรียกว่าต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล 1-2 เม็ด ส่งให้พยาธิแพทย์ตรวจทางห้องปฏิบัติการว่ามีการกระจายของเซลล์มะเร็งมาในต่อมน้ำเหลืองที่ตัดออกมาหรือไม่ ซึ่งจะทราบผลในเวลา 30-40 นาที (ระหว่างการผ่าตัด) ถ้าพยาธิแพทย์ตรวจไม่พบเซลล์มะเร็ง ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเลาะต่อมน้ำเหลืองที่เหลืออยู่ในระดับลึกลงไปออก ซึ่งข้อดีของการผ่าตัดลักษณะนี้ จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แบบเดิมเช่นอาการแขนบวม, ชาใต้ท้องแขน, ต้องค้างสายระบายน้ำเหลืองนานๆ และภาวะหัวไหล่ติดได้ และลดค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดและพักฟื้นของผู้ป่วย
พันเอกพิเศษนพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันทางสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่ ที่เรียกว่าการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล กับแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 8 จังหวัด อาทิ เช่น จังหวัดเชียงราย, พิษณุโลก, นครสวรรค์ ,อุดรธานี, อุบลราชธานี,นครราชสีมา, สุราษฏร์ธานีและหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม สามารถได้รับการรักษาอย่างมีมาตรฐานที่ดีมากขึ้นอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
ด้าน นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ศัลยแพทย์ประจำสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรรมการสมาคม ฯ กล่าวว่า ทางสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมประจำปีในการให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมแก่ผู้ป่วยและผู้สนใจทุกท่าน โดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านมจากสถาบันต่าง ๆ อาทิ เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์,โรงพยาบาลรามาธิบดี, วชิรพยาบาล ในวันพุธที่ 19 สิงหาคม 2552 ในช่วงเวลา 13.00-15.30 น. ณ ห้องรัชดา 1 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งในปีนี้จะมีหัวข้อที่สนใจ ดังนี้ “อาหารกับมะเร็งเต้านม , ยาใหม่ๆยาแพงๆดีจริงหรือไม่ในการรักษามะเร็งเต้านม, เครื่องมือไฮเทคกับการตรวจค้นมะเร็งเต้านม“ รวมทั้งช่วงถาม- ตอบสารพันปัญหากับโรคเต้านม และผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ทุกท่านจะได้รับหนังสือ “ รู้ทันมะเร็งเต้านม” ซึ่งเขียนโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆท่านละ 1 เล่ม เพื่อให้เข้าใจถึงการดูแลตนเองเกี่ยวกับโรคเต้านมและมะเร็งเต้านม ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
สำหรับ ผู้สนใจสามารถเข้ารับฟังกิจกรรมนี้ โดยการสำรองที่นั่งล่วงหน้าที่ได้ คุณธัชนันท์ เลาะเซ็ม (เลขานุการ สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย) ที่เบอร์โทรศัพท์ 085-243-3500 (รับจำนวนจำกัด 400 ท่านแรก)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มกรุณาติดต่อ
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202หรือ 081-421- 5249
โทรสาร 0-2861-0675 อีเมล์ Tanasaku@corepeak.com