ลงทุนในอินโดนีเซีย…ชูทรัพยากรธรรมชาติเป็นจุดขายหลัก

ข่าวทั่วไป Monday June 26, 2006 09:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ธนาคารกรุงเทพ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แนะนักลงทุนไทยว่าอินโดนีเซียนับเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ดีบุก ทองแดง นิกเกิล บ็อกไซต์ ทอง เงิน และเหล็ก ทั้งที่สำรวจแล้วและยังไม่ได้สำรวจ รวมถึงยังมีทรัพยากรสัตว์น้ำจำนวนมาก อีกทั้งมีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียนด้วยประชากรเกือบ 200 ล้านคน แม้ว่าอินโดนีเซียให้สิทธิประโยชน์ในด้านการลงทุนน้อยมากคือ มีเฉพาะการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเป็นเวลา 2 ปีเท่านั้น แต่จากผลตอบแทนการลงทุนที่สูง ทำให้อินโดนีเซียเป็นจุดหมายหนึ่งของนักลงทุนต่างประเทศ
ประเภทธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ได้แก่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร ธรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน และแร่ธาตุต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น การก่อสร้าง ขนส่ง การแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ การแปรรูปสินค้าเกษตร อาทิ โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา โดยควรเข้าไป ลงทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียจะให้ความสำคัญต่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากกว่าการส่งออกในรูปวัตถุดิบด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ อินโดนีเซียนับเป็นแหล่งประมงนอกน่านน้ำที่สำคัญที่สุดของไทย แต่นับจากเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นไป รัฐบาลอินโดนีเซียจะยกเลิกการให้สัมปทานประมง ธุรกิจต่างชาติที่จะทำการประมงได้ต้องร่วมทุนกับท้องถิ่นเท่านั้น
ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่าแม้ อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ซึ่งจากการประมวลและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการหลายรายในอินโดนีเซีย พบว่าปัญหาสำคัญของนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ ด้านกฎหมาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย อีกทั้งการที่รัฐบาลกลางเริ่มมีการกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่น ทำให้หลายครั้งรัฐบาลท้องถิ่นไม่ยอมรับข้อตกลงที่นักลงทุนต่างชาติทำกับรัฐบาลกลาง ความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ท่าเรือ ประปา และไฟฟ้า ขณะที่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง มีการกล่าวถึงน้อยมาก
สำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้แนะว่า หากเป็นไปได้ควรมีการรวมกลุ่มนักลงทุนที่มีความสนใจร่วมกัน มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องหรือเกื้อหนุนกัน หรือสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น ไฟฟ้า วัตถุดิบ หรือของเหลือใช้จากโรงงานหนึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่ออีกโรงงานหนึ่งได้ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถรวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ได้ นอกจากช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรแล้ว ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจในกลุ่มของตนได้ดีกว่าการเข้าไปโดยลำพังคนเดียว ขณะที่การพิจารณาที่ตั้งโรงงานควรคำนึงถึงแหล่งวัตถุดิบที่มีความจำเป็นต้องใช้เป็นหลัก รวมถึงตลาดสินค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เนื่องจากการคมนาคมขนส่งในประเทศยังไม่มีความสะดวก นอกจากนี้การหา ผู้ร่วมทุนในท้องถิ่นที่ดี เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการต่างๆ ภายในประเทศนี้
อนึ่ง ช่วงปี 2543-48 จำนวนโครงการของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียรวม 8,324 โครงการ เงินลงทุน 79,445 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียทั้งในด้านจำนวนโครงการและเงินลงทุน คิดเป็นร้อยละ 13.2 ของเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาได้แก่ อังกฤษ และญี่ปุ่น ส่วนนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียมีปริมาณและมูลค่าไม่สูงนักคือ มีเพียง 27 โครงการ เงินลงทุน 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะปี 2548 มีโครงการลงทุนทั้งสิ้น 8 โครงการ เงินลงทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการเลี้ยงไก่ เพาะเลี้ยงกุ้ง การผลิตอาหารสัตว์ ยิปซั่ม กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้อง ปูพื้น ปิโตรเคมี เหมืองแร่ ถ่านหิน และประมง นักลงทุนไทยที่เข้าไปแล้ว เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซีเมนต์ไทย บ้านปู ลานนาลิกไนต์ และ ปตท.สผ. เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ