กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำรงชีวิต รวมไปถึงวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานของพ่อ-แม่ไทยยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปตามกระแสสังคม
เกิดค่านิยมการเลี้ยงลูกโดยเน้นการเสริมสร้าง “ทุนปัญญา” เพียงอย่างเดียว เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคือความสำเร็จในหน้าที่การงานและ “ผลตอบแทน” จำนวนมหาศาล ซึ่งทัศนคติในการเลี้ยงลูกสมัยใหม่นี้ได้ส่งผลกระทบต่อ “ทุนชีวิต” และ “ภูมิคุ้มกัน” ตัวเองที่ขาดหายไปของเด็กไทย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคมมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชน ผลที่ตามมาก็คือการมีพฤติกรรมเสี่ยง และสังคมที่เป็นทุขภาวะ
“ทุนชีวิต” หมายถึงต้นทุนขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนาการทางด้านจิตใจ สังคม และสติปัญญาของคนๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงบวกทางด้านจิตใจที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งทุนชีวิตเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูและปลูกฝังของครอบครัวและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งถ้าเด็กมีต้นทุนชีวิตที่ไม่แข็งแรงจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงและปัญหามากมาย ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย ยาเสพติด การใช้ความรุนแรงฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาที่มาจากต้นทุนชีวิตบางด้านที่ขาดหายไปทั้งสิ้น
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน “เด็กพลัส” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าที่ผ่านมาทางแผนงานได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย” และพบว่าปัจจุบันทัศนะในการเลี้ยงดูลูกของพ่อและแม่ โดยเฉพาะ “แม่” ซึ่งเป็นหัวเรือหลักได้เปลี่ยนไป และเน้นในปัจจัยเพียง 2 ด้านคือ “เงิน” และ “ปัญญา” โดยมีเป้าหมายคือเลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตขึ้นไปมีหน้าที่การงานที่ดี และมีอาชีพที่สร้างรายได้จำนวนมาก
“จากการศึกษาพบว่าทุนชีวิตของเด็กไทยที่อ่อนแอและต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากที่สุดมีอยู่ 5 ข้อ คือ ทุนทางด้านการเป็นผู้ให้หรือจิตอาสา, การร่วมกิจกรรมทางศาสนา, ความรู้สึกมีคุณค่าต่อชุมชน, การได้ทำกิจกรรมนอกกรอบ และการพูดความจริง ซึ่งบทบาทของแม่สามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่แม่ต้องเรียนรู้ว่าลูกมีการเรียนรู้ในอีกมิติหนึ่งนอกเหนือไปจากการเรียนปกติด้วยซึ่งจะช่วยทำให้ลูกกลายเป็น “คน’ มากขึ้นและไม่ได้เป็นหุ่นยนต์ โดยแม่จะต้องให้ความสำคัญกับเทคนิค วิธีการ และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเติมทุนชีวิตที่บกพร่องเหล่านี้ให้กับลูก” นพ.สุริยเดว กล่าว
ด้าน นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. ระบุถึงปัญหาในเรื่องนี้ว่า เกิดจากสังคมไทยมีอัตราการหย่าร้างสูง ครอบครัวมีขนาดเล็กลงเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ทำให้เกิดแม่ยุคใหม่ 2 ลักษณะคือ “แม่ที่ปกป้องลูก” และ “แม่ที่ทอดทิ้งลูก” โดยกลุ่มแรกจะพบมากในสังคมคนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และมีแนวโน้มจะลุกลามเข้าไปสู่พื้นที่ชนบท แม่กลุ่มนี้ต้องไปทำงานต่างถิ่น จึงเกิดความรู้สึกผิดที่ไม่ได้เลี้ยงลูก ทำให้มีการปกป้องลูกมาก ซื้อสิ่งของไปปรนเปรอให้ความสะดวกสบาย ส่งผลให้เด็กเป็นคนที่ยึดถือตัวเองเป็นใหญ่ เมื่อประสบกับปัญหาก็จะแก้ไขไม่เป็น เพราะเคยมีแต่คนช่วยเหลือ ขาดทักษะในการจัดการปัญหา ในขณะเดียวกันแม่ที่ทอดทิ้งลูก ก็เพิ่มมากขึ้นเพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลาดูแล ทำให้เด็กต้องไปเรียนรู้นอกบ้าน ข้างบ้าน ข้างถนน ร้านอินเทอร์เน็ต และจะเติบโตไปเป็นเด็กที่กร้านชีวิต มีทักษะในการอยู่รอดสูง แต่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงตามมา และการเบียดเบียนเด็กคนอื่นๆ เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้เด็กอยู่รอดได้ด้วยตนเอง
“ทาง สสส. พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยจัดโครงการ “ขจัดร้ายขยายดี สร้างภูมิคุ้มกัน” เนื่องจากสภาพแวดล้อมปัจจุบันมีพื้นที่ไม่สร้างสรรค์อยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องทำให้สิ่งเหล่านี้ลดน้อยถอยลงไป โดยเฉพาะเรื่องอบายมุขและสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ ส่วนด้านการขยายดี ก็ต้องทำให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ของครอบครัวเพิ่มขึ้น และให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ในด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน สสส.จะพยายามจัดให้มีพื้นที่ซึ่งครอบครัวจะสามารถนั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันได้ จึงได้เข้าไปทำเรื่องครอบครัวสุขภาวะในโรงเรียนและครอบครัวสุขภาวะในชุมชน เพื่อช่วยให้ครอบครัวเกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นกว่าเดิม” นายวันชัยกล่าว
ซึ่งปัญหาในเรื่องทุนชีวิตและการเลี้ยงดูลูกของแม่ยุคใหม่ในปัจจุบันนั้น พญ.ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้นทุนชีวิตเป็นสิ่งที่ติดตัวและบ่งบอกความเป็นตัวตน เป็นต้นทุนที่จะนำพาให้เด็กไปสู่ความเป็นคนดี โดยไม่เกี่ยวว่าต้องมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย โดยผลการศึกษาวิจัยพบว่า หากเด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว อันเกิดจากได้รับการดูแล เลี้ยงดู ฝึกอบรมให้มีทักษะที่ดี เด็กก็จะเติบโตเป็นคนดีที่ประสบความสำเร็จ มีจริยธรรม แต่หากต้นทุนชีวิตไม่ดี ชีวิตของเด็กก็จะจบลงด้วยทุกขภาวะ ดังนั้นหากครอบครัวมีความอบอุ่นเข้มแข็ง เด็กจะสามารถต่อต้านกับกระแสสังคมในด้านลบได้เป็นอย่างดี
“ในเวลานี้ต้องยอมรับว่า ทุนนิยมและวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาประทะกับประเทศไทยมาก หากสภาพจิตใจของลูกหลานไม่เข้มแข็ง เด็กๆ จะถูกยั่วยวน เสพติดเกม สินค้าแบรนด์เนม ซึ่งในวันแม่ที่กำลังจะมาถึงนี้มีความสำคัญมาก แม่จะได้ทบทวนบทบาทของตนเองในการหล่อหลอมเด็กให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เนื่องจากแม่มีอิทธิพลกับเด็กมากกว่าพ่อ ทั้งจากความใกล้ชิด ความละเอียดอ่อน ความเอาใจใส่ที่มีมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันแม่ก็มีแนวโน้มตามใจลูกมากขึ้น ทำให้เด็กด้อยระเบียบวินัย เอาแต่ใจตนเอง ดูแลตัวเองไม่ได้ ซึ่งแม่สามารถสร้างทุนชีวิตให้กับลูกได้โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่หลังคลอด เพียงการให้นมแม่จากอกก็ถือเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลูกจะสัมผัสได้ถึงความรักความอบอุ่น มีความปลอดภัย เมื่อเติบโตลูกจะเริ่มแสดงให้เห็นว่ามีทุนชีวิตที่ดีคือไม่งอแง ไม่ขี้ขลาด ไม่ขี้กลัว ไม่เอาแต่ใจ แสดงความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคม” พญ.ชนิกา กล่าว
ซึ่ง นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ยังกล่าวอีกว่าในยุคโลกาภิวัฒน์ที่พ่อ-แม่สมัยใหม่ต่างเติบโตขึ้นมาด้วยทัศนคติของ “เงิน” และ “ปัญญา” เป็นเป้าหมายชีวิต โดยหลงลืม “ทุนชีวิต” ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ 5 ข้อหลักที่ต้องเร่งแก้ไขนั้น หากปล่อยทิ้งไว้ในอนาคตจะส่งผลให้เกิดสังคมไทยที่ขาดความเอื้ออาทรเมตตาปราณี ชุมชนและสังคมก็จะอยู่แบบตัวใครมันตัวขาดการเฝ้าระวังส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นพื้นที่ดีก็จะหายไป เด็กไทยจะขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจหันไปยึดติดวัตถุนิยมตามกระแสสังคม เด็กไทยจะขาดความคิดสร้างสรรค์เนื่องจากคิดนอกกรอบไม่เป็น และสุดท้ายก็คือเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเองและคนอื่นๆ
“ปัจจุบันบทบาทของแม่ในการสร้างทุนชีวิตให้ลูกแต่ละด้านนั้นมีน้อยมาก และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยผลการศึกษาพบว่าแม่ให้ความสำคัญกับทุนชีวิตด้านต่างๆ ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แนวโน้มของเด็กไทยจะเคร่งเครียดกับการเรียนมากขึ้น โอกาสที่เด็กจะยึดติดกับวัตถุนิยมก็จะสูงขึ้น ต้นเหตุของพฤติกรรมเสี่ยงในทุกๆ เรื่องที่เป็นปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ล้วนเกิดขึ้นมาจากการมีต้นทุนชีวิตที่ต่ำ ดังนั้นต้นทุนชีวิตคือเหตุแห่งปัญหา ถ้าเราสามารถเติมทุนชีวิตได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะลดลง” ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชนกล่าวสรุป.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เหมวดี พลรัฐ บริษัท บรอดคาซท์ วิตามิน บี จำกัด
punnda.p@vitamin-b.co.th