กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--โพรวายด์ พลัส
ชุมชนสมุทรเจดีย์ จ.ระยอง - ปราชญ์ชาวบ้านจูงมือลูกหลานกว่า 500 คน ร่วมภาครัฐและ ไออาร์พีซี ปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติวันแม่ หวังให้ชุมชน โรงงาน สิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงโครงการโครงการปลูกป่าชายเฉลิมพระเกียรติว่า ไออาร์พีซี ร่วมกับเทศบาลนครระยอง, กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน เทศบาลระยอง, ชมรมรักษ์ลุ่มน้ำระยอง, โรงเรียนระยองวิทยาคมปากน้ำ, โรงเรียนนครระยองวิทยาคม, โรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ, กลุ่มสตรีอำเภอเมือง 11 ตำบล และพนักงานไออาร์พีซี รวมกว่า 500 คน ร่วมกันปลูกป่าซ่อมแซม กำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำป่าชายเลน อาทิ ปูแสม กุ้ง หอย ปู ปลา รวมทั้งการเก็บขยะบริเวณป่าชายเลน ณ ศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ชุมชนสมุทรเจดีย์ เทศบาลระยอง
"เป็นเจตนาดั้งเดิมของไออาร์พีซีในการร่วมมือกับชาวบ้านอนุรักษ์ระบบนิเวศน์รอบๆ โรงงาน เพราะป่าชายเลนในบางจุดที่เริ่มมีสภาพเสื่อมโทรม เราจึงคิดที่จะฟื้นฟูให้มีสภาพสมบูรณ์ เพื่อที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ดีไว้ให้ลูกหลาน รวมถึงเพื่อให้สิ่งแวดล้อม ชุมชน และโรงงาน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยไออาร์พีซีจะช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์และทุนทรัพย์"
นายวรวิทย์ ศุภโชคชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครระยอง กล่าวถึงแนวคิดวว่า ผืนป่าชายเลนในเขตรับผิดชอบมีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมรอบๆ โดยเฉพาะเรื่องป่าชายเลนดีขึ้นมาก สัตว์น้ำที่เคยหายไปก็กลับมาเหมือนเดิม เช่น ปูกล้ามดาบ ปูดำ ปลาตีน นกท้องถิ่น ซึ่งน้ำ และ พื้นดินใต้น้ำจะเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศน์ ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจเริ่มหวงแหน แผ่นดินที่เคยเป็นเลนกลับกลายมาเป็นป่า มีความเขียนชะอุ่ม ใครจะเข้าหาปูหาปลาชาวบ้านก็จะขับไล่ เพราะบริเวณป่าชายเลนจะเป็นที่อนุบาลสัตว์ เป็นแหล่งของตัวอ่อนและการวางไข่
" มีปราชญ์ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถวป่าชายเลน ไปเก็บฝักพันธุ์พืชมาเพาะไว้ แล้วทำเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์พืช ชาวบ้านก็ไปเก็บไม้มาทำสะพาน เห็นแล้วก็ชื่นใจ จึงขอทุนสนับสนุนจากบริษัทเอกชน ซึ่งทางเทศบาลก็ได้รับความร่วมมือกับบริษัท ไออาร์พีซี พัฒนาพลิกฟื้นผืนป่าให้เคียงคู่กับโรงงาน"
นายคิน นาวงศ์ อายุ 73 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน เปิดเผยว่า เมื่อก่อนสภาพป่าชายเลนนั้น ไม่ดี น้ำเสีย ป่าเสื่อมโทรม จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ชุมชนสมุทรเจดีย์ ซึ่งได้ร่วมกับชาวบ้านและนักเรียนในละแวกใกล้เคียง 10 แห่ง โดยครูจะให้นักเรียนมาปลูกป่าชายเลน ศึกษาระบบนิเวศน์ และปฏิบัติจริง มีการประเมินผลในระยะ 3 เดือน ต่อมาก็คิดสร้างสะพานทางเดิน เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาป่า แต่กลุ่มฯไม่มีเงินทุนที่จะไปซื้อไม้ จึงได้ขอคำปรึกษาจากบริษัทเอกชน ให้เข้ามาช่วยสนับสนุนไม้และเงินทุน ทำเป็นทางเดิน เพื่อให้เด็กและชาวบ้านได้รับความสะดวก เพลิดเพลินในการศึกษาและท่องเที่ยวป่าชายเลน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาน้องๆ นักเรียนต่างอารมณ์ดีกับการศึกษาธรรมชาติ ทั้งขุด ทั้งปักต้นกล้า พันธุ์ไม้ต่างๆ อาทิ โกงกาง ลำพูน ลำแพน “น้องอาร์ต” ด.ช.ณัฐพล จุนาพงศ์ นักเรียชั้นป.5 โรงเรียน เทศบาลวัดปากน้ำ กล่าวว่า เมื่อ 2 เดือนที่แล้วเพิ่งจะมาปลูกป่าชายเลนที่นี่กับเพื่อนๆ สนุกมากๆ และได้ประโยชน์อีกหลายอย่าง เพราะการปลูกป่าชายเลนจะช่วยทำให้ลดภาวะโลกร้อนได้ และสัตว์น้ำทะเลจะได้มีที่อยู่อาศัย ซึ่งทุกวันนี้ป่าชายเลนเริ่มหายไปมากจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันปลูก ป่าชายเลนจะได้ไม่หมด
สาวน้อยหน้าใส หัวใจนักอนุรักษ์อย่าง “น้องไลลา” ด.ญ.ลักษณ์นารา เอี่ยมสำอางค์ ชั้น.ม.2 โรงเรียนเดียวกัน ก็ไม่น้อยหน้า กล่าวว่า แม้ไม่เคยปลูกป่าชายเลนมาก่อน แต่ก็ไม่เคยคิดจะทำลาย ธรรมชาติโดยเฉพาะต้นไม้ เพราะต้นไม้ทำให้เราร่มรื่น สดชื่น แจ่มใสดีใจที่ได้มาปลูกป่าร่วมกับเพื่อนๆ จากนี้ไปจะชวนเพื่อนๆ และที่บ้านให้ช่วยกันปลูกป่า จะได้ช่วยลดภาวะโลกร้อนและสัตว์น้ำจะได้มีที่อยู่อาศัย คอยหลบศัตรูที่จะเข้าไปทำร้ายพวกเขา
"อยากให้ทุกคนช่วยกันปลูกป่าชายเลนเยอะๆ พวกปู หอย และปลาตีนจะได้มีที่อยู่อาศัยกัน พวกเราก็จะได้มีเกาะไว้คอยป้องกันน้ำท่วม และไม่เพียงแต่ปลูกป่าชายเลนเท่านั้น อยากให้ปลูกต้นไม้ไว้ทุกที่ โลกจะได้ไม่ร้อนมากไปกว่านี้ และอยากให้ทุกคนหยุดตัดไม้ทำลายป่าเสียที เพราะทุกวันนี้ป่าไม้ของเรา แทบจะไม่เหลืออีกแล้ว วันนี้หนูจึงมาปลูกป่าชายเลนให้โลกของเรา" “น้องกี้” ด.ญ.นิตศรา งันเกาะ อายุ 14 ปี เพื่อนห้องเดียวกับน้องไลลา กล่าว
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่
คณะบุคคล โพรวายด์ พลัส
e-mail : vorapoj.provideplus@gmail.com