กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--คต.
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 และ 26 มิถุนายน 2552 โมร็อกโกได้มีการขอทบทวนนโยบายทางการค้า (Trade Policy Review : TPR) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดใน Annex 3 Trade Policy Review Mechanism ของ WTO (World Trade Organisation) ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดขึ้นเป็นประจำ เพื่อช่วยให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎระเบียบของ WTO ได้โดยสร้างความโปร่งใสและความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติทางการค้าของประเทศสมาชิก
ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โมร็อกโกได้เริ่มปฏิรูปโครงสร้างและเศรษฐกิจมหภาคซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ต่อปี และในปี 2551 GDP มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.8 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีระดับต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี และในปี 2550 โมร็อกโกมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพิ่มขึ้นเป็น 36.4 พันล้านตีร์แฮม โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2545 นับได้ว่าเป็นประเทศ 1 ใน 3 ของประเทศอันดับแรกในทวีปแอฟริกาที่เปิดเสรีทางการลงทุนและสามารถดึงดูด FDI ได้มากที่สุด นอกจากนี้ โมร็อกโกได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี สหรัฐอเมริกา อียิปต์ จอร์แดน และตูนีเซีย ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่ปี 2546 2548 2549 และ 2550 ตามลำดับ
ที่ผ่านมาแม้ว่าโมร็อกโกสามารถดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง ได้แก่ การเปิดเสรีการลงทุน การจัดทำ FTA เป็นต้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม โมร็อกโกควรปรับปรุงโดยการส่ง Notifications ที่สำคัญต่อ WTO และการปฏิบัติตามข้อผูกพันในความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade and Services : GATS) โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวและโทรคมนาคมให้โปร่งใสมากขึ้น รวมถึงลดความซ้ำซ้อนของระบบอัตราภาษีศุลกากร MFN ที่มีรายการสินค้ากว่า 1,300 Tariff Lines ซึ่งมี Applied Rates สูงกว่าที่อัตราที่ผูกพันไว้ อีกทั้งความชัดเจนในเรื่องพิธีการศุลกากร มาตรการ SPS การอนุญาตและการควบคุมการนำเข้าและส่งออก Trade Remedies การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการปกป้องภาคเกษตรโดยการคงอัตราภาษีศุลกากรที่สูง เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปโครงสร้างครั้งนี้ของโมร็อกโก เป็นการปรับตัว เพื่อให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างควาเจริญเติบโต ที่ยั่งยืนให้กับประเทศ สำหรับ Notifications ด้านเกษตรซึ่งโมร็อกโกได้จัดทำไว้แล้ว โดยคาดว่าจะแจ้งต่อ WTO ภายในเดือนกรกฎาคมและยืนยันที่จะใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีและการเปิดประเทศ การปฏิบัติตามพันธกรณีใน WTO รวมทั้งการส่งเสริมการค้าในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเช่นเดิม
ทั้งนี้ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำ WTO ได้มีข้อสังเกตต่อการประชุมดังกล่าว ดังนี้ แม้ว่าโมร็อกโกจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าได้อย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง แต่โมร็อกโกยังประสบปัญหาการขาดดุลทางการค้าอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น โดยในปี 2550 โมร็อกโกนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 31,650.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ส่งออกเพียง 14,607.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2544 ซึ่งมีการส่งออกถึง 7,144.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้การได้จัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯของโมร็อกโก ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2549 มีผลทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในปี 2548 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยละ 4.5 และ6.1 ในปี 2549 และ 2550 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ กลับมีมูลค่าลดลงโดยในปี 2548 สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ มีมูลค่าเพียงร้อยละ 2.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดและลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2549 และ 2550 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเพียงร้อยละ 1.9 และ 2.4 ตามลำดับ