กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล ผู้นำธุรกิจขนส่งและลอจิสติกส์ ระดับโลก ได้เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดในหัวข้อ “Delivering Tomorrow ? Customer Needs in 2020 and Beyond” ซึ่งนำเสนอผลการศึกษาความเห็นในหัวข้อต่างๆ เช่น โลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ลอจิสติกส์ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยเป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติรวม 900 ท่าน ประกอบด้วยซีอีโอจากบรรษัทลงทุนข้ามชาติ (MNCs) และนักวิชาการ การศึกษาดังกล่าวได้เผยให้เห็นถึงทิศทางที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อดังกล่าวจากปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจในอนาคตได้เป็นอย่างดี
ประเด็นหลักๆ ของรายงานฉบับนี้ ได้แก่ วิวัฒนาการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงด้านความคาดหวังและพฤติกรรมของลูกค้าที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และการปรากฏตัวของจีนในฐานะผู้นำด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี การศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในระดับภูมิภาคที่น่าสนใจ ด้วยความเห็นที่ต่างกันในเรื่องต่างๆ โดยผู้ร่วมตอบคำถามจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกา อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามจำนวนมากซึ่งไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดต่างให้ความสนใจกับบริษัทและบุคลากรในเอเชีย
ทั้งนี้ ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล ได้จัดทำแผนการกำหนดทิศทางสำหรับเหตุกาณ์ที่อาจเป็นไปได้ในอนาคต โดยกลุ่มบริษัทได้นำความรู้ที่ได้จากการรวบรวมแบบสอบถามมานำเสนอในรูปแบบกลยุทธ์ขององค์กรเมื่อไม่นานมานี้ “ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ ในอนาคตจะให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืน การศึกษา และความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งกลุ่มบริษัทของเรามีความพร้อมเต็มที่สำหรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเราได้เดินหน้าและเน้นย้ำในประเด็นหลักๆ เหล่านี้มาแล้วหลายโครงการ เช่น โครงการ GoGreen และ Teach First” มร. แฟรงค์ แอพเพิล ประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหาร ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล กล่าว
การศึกษาและวิจัยในหัวข้อ “Delivering Tomorrow ? Customer Needs in 2020 and Beyond” จัดทำขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ถึง มกราคม พ.ศ. 2552 โดยผู้เข้าร่วมงานวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ซีอีโอจากบริษัทระหว่างประเทศชั้นนำ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อนาคตวิเคราะห์ และลอจิสติกส์ และผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการคัดเลือกโดยลูกค้าจากหลายแขนงรวม 900 ท่านจากทั่วโลก เสนอความคิดเห็นอย่างละเอียดในแบบสอบถามเกี่ยวกับทฤษฎีแห่งอนาคต 81 บทที่ได้รับการริเริ่มขึ้นมา การศึกษานี้ใช้วิธี Delphi ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2493 และเป็นกระบวนการวิเคราะห์ที่มีหลายขั้นตอน โดยผู้เชี่ยวชาญจะให้ความเห็นเกี่ยวกับทฤษฎีที่หลากหลาย ซึ่งกระบวนการที่เป็นระบบนี้ช่วยการศึกษาที่ใช้วิธี Delphi ในการคาดคะเนอนาคตแม่นยำและสอดคล้องมากขึ้นกว่าผลที่ได้จากการทำแบบสอบถามทั่วไป ผลการคาดการณ์ที่สำคัญจากการศึกษาชิ้นนี้มุ่งไปยังหัวข้อความท้าทายของภาวะโลกร้อน อิทธิพลของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจด้านลอจิสติกส์ที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น
ภาวะโลกร้อน และการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ภาวะโลกร้อนเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญ ผู้เข้าร่วมงานวิจัยคาดการณ์ว่า ในอนาคตการตัดสินใจซื้อสินค้าจะไม่ยึดแบรนด์ คุณภาพและราคา แต่จะคำนึงถึงผลกระทบของสินค้าและบริการที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ “หากวันนี้คุณอ่านฉลากบนขวดแยม คุณจะพบว่ามีปริมาณแคลอรี่ระบุอยู่บนขวด แต่ในปี พ.ศ. 2563 บนฉลากจะมีการชี้แจงเพิ่มเติมถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตและการขนส่งสินค้า” มร. แอพเพิล กล่าว ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายมากขึ้นอีกระดับหนึ่งเพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมผู้บริโภคจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างแน่วแน่ในด้านการปรับปรุงมาตรฐานสิ่งแวดล้อม และผู้ให้บริการที่ปัจจุบันไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องของสภาพแวดล้อมนัก กำลังพยายามขจัดจุดด้อยของตนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
มีความแตกต่างบางประการระหว่างความเห็นจากฝั่งตะวันออกและตะวันตก ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญชาวเอเชียมีแนวโน้มที่จะเชื่อในเรื่องปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับเมืองที่ปราศจากการปล่อยมลพิษ “zero-emissions cities” มากกว่าผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรป แอฟริกา และอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญชาวเอเชียยังเชื่ออีกว่า ลูกค้าได้เตรียมพร้อมสำหรับการรอรับสินค้าซึ่งต้องรอนานกว่าเดิม เพื่อแลกกับระบบการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น
บริษัทลอจิสติกส์เป็นผู้นำทาง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้คาดการณ์ถึงผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสังคมและการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันแม้ว่าจะเกิดวิกฤติทางการเงินก็ตาม แต่ในปี พ.ศ. 2563 โลกจะยังคงเดินหน้าด้วยกลไกตลาด การแข่งขันเพื่อการเติบโต ความมั่งคั่ง และแหล่งวัตถุดิบจะมีอยู่ต่อไป โดยมีประเทศและบริษัทต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญ แนวโน้มในการจ้างบริษัทอื่นผลิตสินค้าแทนการผลิตเองจะยังคงดำเนินต่อไป และบริษัทจำนวนมากจะพิจารณาถึงห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกมากขึ้นเพื่อศักยภาพด้านการแข่งขัน การศึกษายังได้คาดการณ์อีกว่าบริษัทต่างๆ จะต้องร่วมมือกันมากขึ้นและใกล้ชิดกันยิ่งกว่าเดิม ในฐานะผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมลอจิสติกส์จะเป็นตัวอย่างที่อุตสาหกรรมอื่นๆ จะปฏิบัติตาม เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น บริษัทลอจิสติกส์ต่างๆ จะลงทุนเพิ่มขึ้นในแง่ของทรัพยากรเพื่อสร้างเครือข่ายร่วมกัน มร. แอพเพิล อธิบายว่า “เป้าหมายของเราอย่างหนึ่งคือ การทำให้ลอจิสติกส์ในอนาคตเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตัวอย่างเช่น เราได้ให้บริการการขนส่งที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอน อีกทั้ง เรายังเป็นบริษัทลอจิสติกส์แห่งแรกที่ริเริ่มโครงการรักษาภูมิอากาศที่ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนในการลดจำนวนการปล่อยก๊าซ เราเดินมาในเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว แต่การศึกษาแสดงให้ว่าคู่แข่งของเราจำนวนไม่น้อยจะหันมาปฏิบัติในแนวทางเดียวกับเราภายในปี พ.ศ. 2563 โดยเราจะมุ่งมั่นในการแสวงหาวิธีใหม่ๆ มาปฏิบัติเพื่อคงความเป็นผู้นำต่อไป
การทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต ทุกที่ ทุกเวลา
ลูกค้าในปี พ.ศ. 2563 อาจจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ลูกค้าก็จะยังคงมีความต้องการสินค้าและบริการที่ขนส่งได้อย่างรวดเร็วที่สุด ดังนั้น ผู้บริโภคต้องการข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่มีความละเอียดและชัดเจนยิ่งขึ้นจากซัพพลายเออร์ สิ่งนี้เองที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2563 ประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่เกิดใหม่ จะทำกิจกรรมออนไลน์เกือบตลอดเวลา และประชากรสามพันล้านคนจะดำเนินธุรกิจบนเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในวงการธุรกิจเท่านั้น แต่จะขยายตัวไปยังทุกๆ สาขาอาชีพ นอกจากนี้ ความต้องการบริการที่มีความคล่องตัวและสามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลาจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ทัศนคติเชิงบวก
แม้ว่าการก่อการร้าย และโรคติดต่อทั่วโลกจะยังคงเป็นสิ่งที่น่ากลัวในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมั่นว่าผลการวิจัยยังคงเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนทางการเงินและเทคโนโลยี ที่เป็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้เชี่ยวชาญชาวเอเชียต่างมองปัญหาด้านความปลอดภัยและสาธารณสุขไปในเชิงลบ แต่มีความมั่นใจในความสามารถของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจและมีบทบาทใหม่ที่สำคัญในโลกแห่งการค้า
แนวโน้มที่คล้ายๆ กันนี้สอดคล้องกับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจากเอเชียมั่นใจว่าการควบคุมจำนวนประชากรโดยภาครัฐจะมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยชะลอการเติบโตของจำนวนประชากร และส่วนมากคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะมีจำนวน 7 พัน ถึง 8 พันล้านคน ในทางตรงกันข้าม ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจากอีกซีกโลกกลับเชื่อว่า จำนวนประชากรโลกจะยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้ทรัพยากรต่างๆ ด้วย “อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างมีทัศนคติในเชิงบวก พวกเขาเชื่อว่า เราสามารถควบคุมความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเหล่านี้ได้ด้วยระบบเศรษฐศาสตร์การตลาด” มร. แอพเพิล กล่าวสรุป
มร. แฟรงค์ แอพเพิล ประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหาร ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
อรวรรณ ชื่นวิรัชสกุล หรือ พิชญ์พธู ไวยโชติ
โทรศัพท์ 0-2627-3501 ต่อ 212 หรือ 217
โทรสาร 0-2627-3510
อีเมล์ ochuenwiratsakul@th.hillandknowlton.com
pwaiyachote@th.hillandknowlton.com