iTAPปฏิวัติวงการเฟอร์นิเจอร์ จับเอสเอ็มอีเข้าคอร์ส “กรีน-ดีไซน์-อีโค-ดีไซน์”

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2009 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--สวทช. เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์อันเนื่องมาจากทฤษฎีทุนนิยมที่มักจะโน้มเอียงเข้าหาผลประโยชน์ของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศอย่างรุ่นแรง ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องหันมาดูแลอย่างจริงจังเพื่อป้องกันและหาทางเลือกที่เหมาะสม ด้วยการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ภายใต้การบริหารจัดการของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการได้ตระหนักการใช้ทรัพย์กรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า โครงการนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาจากโครงการ “ติดอาวุธผู้บริหาร : อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย” และ โครงการ “จากแนวคิดสู่แนวค้า : เพื่อพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย” ทั้งนี้เพื่อต้องการปรับทัศนคติและมุมมองในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อการสร้างสุขภาวะของมนุษย์ในระยะยาว (Long-term Maximization of human health) ซึ่งขึ้นอยู่กับความอยู่รอดปลอดภัยของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องช่วยกันลดการบริโภคทรัพยากร ลดปริมาณของเสียที่ปล่อยออกสู่ระบบนิเวศ โลกทุกวันนี้ต้องการเฟอร์นิเจอร์สีเขียว เพราะชีวิตประจำวันของมนุษย์อาศัยอยู่ภายในบ้าน ที่ทำงาน ซึ่งมีเตียงนอน โต๊ะทำงาน และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ อีกหลายชนิด สารพิษก่อมะเร็งที่ถูกปล่อยออกมาจาก กาวซึ่งมีส่วนผสมของฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารร้ายก่อมะเม็งที่ปัจจุบันจะใช้สารนี้เป็นตัวผสานต่อชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์เมื่อมีการสูดดมเข้าไปในปริมาณมากๆ ก็จะถูกสะสมในร่างกาย โครงการนี้จึงถูกกำหนดขึ้นจากแนวความคิดด้านอนุรักษ์และความปลอดภัยในชีวิต กล่าวคือ 1.การผลิตโดยไม่มีสารพิษ 2. รักษาสิ่งแวดล้อม 3.ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รศ.ดร.สมชาย ให้ข้อมูลอีกว่า ในต่างประเทศจะมีข้อกำหนดกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้อย่างชัดเจน ดังนั้นการผลิตเฟอร์นิเจอร์จึงต้องมีเรื่องราวบอกผู้บริโภคตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ อาทิ วัสดุที่นำมาจากไหน ผลิตอย่างไร เป็นต้น ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ส่งออกในประเทศไทยจึงต้องพัฒนาการผลิตเพราะถูกบังคับจากคู่ค้านอกประเทศเพื่อให้สินค้าปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง จากกระแสดังกล่าวจึงนำไปสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เป็น “อีโคดีไซน์” (Eco design) และกรีนดีไซน์ (Green design) ซึ่งพบว่าประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วจะเริ่มดำเนินการมากว่า 40-50 ปี แต่ในกลุ่มของประเทศแถบเอเชียเพิ่มตื่นตัวเพราะไม่เพียงแต่การแข่งขันทางการตลาดเท่านี้ ในปัจจุบันมีพัฒนาตัวเองสู่การแข่งขันด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เป็นประเทศผู้นำในฝั่งเอเชีย ในขณะที่ประเทศไทยเองได้เริ่มนำแนวคิดดังกล่าวเข้ามาจัดทำเป็นโครงการฉลากเขียว (Green Label) มอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด “อีโคดีไซน์และกรีนดีไซน์ จึงเป็นทางเลือกใหม่ของการออกแบบการผลิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดของเสีย เพิ่มปริมาณการนำกลับมาใช้ใหม่ การยืดระยะเวลาการใช้งาน และความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ไม่เพียงเท่านี้ยังหมายรวมถึงการให้ความสำคัญในแง่การค้าและการส่งออก เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในชีวิต จึงได้กำหนดตัวบทกฎหมายทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าประเทศ ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล รักษาการผู้อำนวยการฝ่าย หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental Research Unit Director) เปิดเผยว่า ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์สามารถผลักดันให้เป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่ต้องโฆษณา เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์เป็นของใช้ใกล้ตัวที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน โดยกว่า 90% ของชีวิตคนอาศัยอยู่ภายในบ้านพักซึ่งมีเฟอร์นิเจอร์เป็นตัวแปรสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เพราะวัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อมีการผลิตมากปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ตามมา จึงมีการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการลดการใช้ทรัพยากร หรือใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด ประการต่อมาคือการลดพลังงาน รวมถึงลดการปล่อยสารพิษสู่ชั้นบรรยากาศ จากการศึกษาผู้บริโภคต่อความสนใจเฟอร์นิเจอร์สีเขียว พบว่า 50 % รับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน อีก 40 % ต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์สีเขียวแต่ไม่รู้จะหาซื้อได้ที่ไหน อย่างไรก็ดีแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวแต่สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นสินค้าตัวเดียวที่สวนกระแสเศรษฐกิจในปัจจุบันและยังมีแนวโน้มจะเจริญเติบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สินค้าสีเขียวจึงเป็นโอกาสทางการตลาดเพราะกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มประเทศที่มีการสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากไทยมากที่สุด อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา และกลุ่มอียู ดร.นุจรินทร์ กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจจากทั่วโลกยังพบอีกว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง เพราะผู้บริโภคคิดเป็นและมีโอกาสเลือกมากขึ้น โดยประเทศที่ถูกระบุว่าให้ความสำคัญและเลือกซื้อสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับ 1 คือ ประเทศไทย นอกจากนี้ผลสำรวจยังระบุอีกว่าคนไทยพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อหาซื้อสินค้าประเภทดังกล่าว ดังนั้นในอนาคตเชื่อได้ว่าสินค้าสีเขียวนี้มีตลาดรองรับแน่นอน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับอีกด้วย “ ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเรือนประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะเรียกเก็บเงินจากบ้านพักที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือแม้กระทั่งประเทศจีนและประเทศสหรัฐอเมริกาที่จับมือเป็นพันธมิตรลงทุนผลิตสินค้าสีเขียวโดยใช้งบประมาณสูงกว่า 8 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กลุ่มยุโรปได้กำหนดข้อกฎหมายในปี 2009 ว่าด้วยสินค้าที่ใช้พลังงานต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดก็เพื่อให้ประชากรโลกได้ตระหนักถึงความถดถอยของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศบนโลก” ดร.นุจรินทร์ กล่าว นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย เปิดเผยว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าเฟอร์นิเจอร์ไทยไม่ได้ด้อยไปว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องเตรียมตัวและหาทางรับมือกับระบบ “เอฟทีเอ” หรือเขตการค้าเสรีที่กำลังเข้าใกล้เราทุกขณะ การรวมกลุ่มเพื่อเข้าอบรมตามโครงการฯ ก็เพื่อสร้างความตระหนักร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ และพัฒนาการผลิตให้ตรงตามเป้าหมายกลุ่มคู่ค้า แนวทางกรีนดีไซน์ และอีโค ดีไซน์ จึงเป็นทางเลือกในการทำตลาดและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค “สำหรับสถานการณ์เฟอร์นิเจอร์ไทยในปัจจุบันหลายประเทศเริ่มส่งออร์เดอร์มาให้เรา โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น และอเมริกา ทั้งสองประเทศนี้ต้องการปักธงในประเทศไทย ขณะที่ยุโรปเองก็เริ่มส่งออร์เดอร์มาให้เราเช่นกัน ทำให้ตัวเลขกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบในเมืองไทยเพิ่มขึ้น”นายอารักษ์ กล่าว สำหรับโครงการ “โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมความยั่งยืน” เป็นการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสนใจที่จะมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ( Go Green ) โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการระหว่างเดือน ก.ค.2552 - ก.ย. 2554 รวมระยะเวลา 27 เดือน แนวทางในการดำเนินโครงการครั้งนี้ เพื่อปรับพื้นฐานความคิดและสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจากการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของผู้บริโภค ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีสะอาดเข้ามาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และโครงการยังเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์เข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 5 บริษัท ภายใน 15 ส.ค. 52 นี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ขอรับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร.0-2564-7000 โครงการ iTAP หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap หรือ คุณชนากานต์ สันตยานนท์ โทร.0-2564-7000 ต่อ 1368,1381 หรือ email:chanaghan@tmc.nstda.or.th ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 114,115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ