ข้อมูลพื้นฐาน การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 41 (AEM)

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2009 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เป็นการประชุมของรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ อันประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักร กัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม การประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง คือ การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และการประชุมอย่างเป็นทางการ (AEM Meeting) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี การประชุมดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากเป็นการประชุมหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทาง วางแนวนโยบายในด้านเศรษฐกิจภายในของอาเซียน และทิศทางด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของอาเซียนกับ ประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ ในปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมและทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมและเป็นประธานการประชุมดังกล่าว การประชุมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ คือ ในวันที่ 13-14 สิงหาคม 2552 จะเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ส่วนในวันที่ 15-16 สิงหาคม 2552 จะเป็นการหารือกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในส่วนของอินเดียจะมีการหารือกันในวันที่ 13 สิงหาคม 2552 สำหรับประเด็นหลัก (Theme) ที่ไทยกำหนดในฐานะการเป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในปีนี้ คือ “Walk Together, Work Together towards AEC” หมายถึง ความร่วมมือร่วมใจของประเทศสมาชิกเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยยึดหลักดำเนินงาน 3Cs คือ 1. Commit ทุกประเทศจะต้องยึดมั่นในการปฏิบัติตามพันธกรณี 2. Concert ความร่วมมือร่วมใจระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อดำเนินตามแผนงานที่ได้วางแผนและตกลงกันไว้ 3. Connect การสร้างความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของอาเซียน สาระสำคัญของการประชุม 1. อนาคตการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ภายหลังจากปี 2558 ที่อาเซียนได้บรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) แล้ว ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในปี 2558 ดังนั้น จึงต้องกำหนดอนาคตของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมขึ้น เช่น - รูปแบบการดำเนินงานในระยะต่อ ภายหลังจากปี พ.ศ. 2558 - กำหนดข้อริเริ่ม (Bold Initiative) ที่ชัดเจน - ศึกษาความเป็นไปได้ในการรวมกลุ่มในเชิงลึก เช่น การพัฒนาไปสู่การเป็น สหภาพศุลกากร (Customs Union) หรือการรวมกลุ่มในรูปแบบอื่น ๆ ที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับอาเซียน 2. จัดทำ AEC Scorecard ซึ่งเป็นกลไกติดตามการดำเนินงานตามพันธกรณี โดยจะมีการวัดผลทุก 2 ปี 3. การดำเนินงานภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน - ความตกลงในการค้าสินค้า (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) จะมีการติดตามความคืบหน้าของการจัดทำตารางภาษี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง ATIGA ให้แล้วเสร็จตามเวลา เพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 25 สิงหาคม ศกนี้ - การรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self Certification) AEM จะพิจารณาให้การรับรองแผนงานเรื่องการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง คือ ให้ภาคเอกชนที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้สามารถให้การรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายดำเนินการภายในปี 2555 4. อาเซียนกับประเทศคู่เจรจา จะมีการหารือด้านเศรษฐกิจในกรอบอาเซียนบวก 6 คือประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 5. นอกเหนือจากการประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และการเจรจาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาแล้ว ประเทศไทยยังได้การจัดงาน ASEAN Fashion Plus Trade Fair (ที่จัดควบคู่ไปกับงาน Bangkok International Fashion Fair and Bangkok International Leather Fair :BIFF&BIL 2009) โดยมีเป้าหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านแฟชั่นและอุตสาหกรรมต้นน้ำต่าง ๆ ทั้งสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง ฯลฯ ผลที่คาดหวังจากการประชุม 1. สร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนของไทยในครั้งนี้ จะสะท้อนถึงภาพลักษณ์อันดีในด้านเศรษฐกิจของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และความพร้อมในด้านการเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของไทยในหลาย ๆ สาขา อาทิ ความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านแฟชั่นและผ้าไหมทอมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการจัดงาน ASEAN Fashion Plus 2. อาเซียนสามารถกำหนดทิศทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ภายหลังจากการบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค และเอื้อประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตและการลงทุน 3. ส่งเสริมการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน โดยการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการตามความตกลงต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุนภายในภูมิภาค รวมทั้งลดอุปสรรคในด้านการค้าและการลงทุน อำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนและผู้ประกอบการในอาเซียน 4. สร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน 5. สร้างความสัมพันธ์และเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่เจรจา อันประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งล้วนเป็นตลาดที่สำคัญของอาเซียน ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุม สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์การประชุม www.41stAEM.org ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: ดรรชนี นวลเขียว duchanee@124comm.com เอกภพ พันธุรัตน์ Eakkapop@124comm.com บมจ. 124 คอมมิวนิเคชั่นส โทร 02-662-2266

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ