กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
ความสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เกิดขึ้นโดยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เพื่อสร้างให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน และมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน รวมทั้งแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี
เพื่อให้การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นรูปธรรม จึงได้มีการจัดทำแผนงานเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ซึ่งแผนงานนี้เป็นเสมือนพิมพ์เขียวของบ้านที่จะช่วยให้เห็นองค์ประกอบและรูปร่างหน้าตาของบ้านว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
เป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เป้าหมายของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) มีดังนี้
1. การสร้างอาเซียนให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนและแรงงานฝีมืออย่างสะดวกและเสรีมากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนให้เป็นรูปธรรม
- การดำเนินการเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของสินค้าอย่างเสรี (free flow of goods)
โดยมุ่งเน้นการลดอุปสรรคในการนำเข้าส่งออกสินค้าของแต่ละประเทศในกลุ่มสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคที่เกิดจากด้านภาษีศุลกากร ข้อจำกัดทางการค้าที่มิใช่ภาษี การปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนให้ทันสมัยและเอื้อต่อการค้าขายในภูมิภาค ตลอดจนวางมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้าในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดตั้ง ASEAN Single Window ที่จะทำให้ผู้ส่งออกนำเข้าเกิดความสะดวกในการติดต่อประสานหน่วยงานโดยยื่นเอกสารเพียงจุดเดียว
- การดำเนินการเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของบริการอย่างเสรี (free flow of services)
มีการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคในการเข้ามาประกอบธุรกิจบริการ ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเสรี และผู้บริโภคมีเสรีภาพที่จะเลือกใช้บริการต่าง ๆ ตามความพึงพอใจ สาขาธุกิจบริการที่อาเซียนตั้งเป้าหมายเร่งรัดการรวมกลุ่มให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมี 5 สาขา ได้แก่ สาขาท่องเที่ยว การบิน สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ และโลจิสติกส์
- การดำเนินการเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของการลงทุนอย่างเสรี (free flow of investment)
ได้มีการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียนฉบับใหม่ (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) แทนความตกลงที่มีอยู่เดิม คือ ความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน ( Agreement on the ASEAN Investment Area: AIA) 1998 และความตกลงด้านการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement for the Promotion and Protection of Investment) 1987 ซึ่งความตกลงฉบับใหม่นี้ จะมีขอบเขตกว้างขึ้นและมีความครอบคลุมมากขึ้น โดยจะครอบคลุมเนื้อหา 4 ด้านหลัก คือ การคุ้มครองการลงทุน การอำนวยความสะดวกและความร่วมมือในการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และการเปิดเสรีการลงทุน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มและรักษาระดับความสามารถของอาเซียนในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนภายในภูมิภาคอาเซียน
- การดำเนินการเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุนอย่างเสรี (free flow of capital)
ดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดโดยรัฐมนตรีคลังของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น โดยประเทศสมาชิกยังสามารถมีมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้
- การดำเนินการเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี (free flow of skilled labour)
แสวงหาความร่วมมือที่จะสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนของแรงงานมีฝีมือ และอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานมีฝีมือที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนดให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในกลุ่มประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น
2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน
ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบายที่ช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการคุ้มครองผู้บริโภค อันจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิก และสร้างความสามารถในการต่อรองกับประเทศภายนอกภูมิภาค
3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค
ส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการต่าง ๆ อันจะส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กมีความสามารถในการพัฒนา เติบโต และแข่งขันกับคู่แข่งอื่น ๆ ได้อย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังจะมุ่งเน้นการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจะหว่างประเทศสมาชิกใหม่และสมาชิกเก่าของอาเซียน
4. การเชื่อมโยงของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก
จะเน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนที่มีต่อประเทศภายนอกภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน เป็นไปในทางเดียวกัน เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในด้านการผลิตและการจำหน่ายภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นับเป็นการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจาก
1. อาเซียนเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดไทยมากที่สุด ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศเป็นเพื่อนบ้าน มีพรมแดนติดกัน มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึง มีสินค้าและบริการที่สามารถเสริมซึ่งกันและกันได้ หรือมีสินค้าบริการที่คล้ายคลึงกันซึ่งหากสามารถร่วมมือกัน ก็จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งในด้านอำนาจการต่อรอง อันจะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจการค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ปัจจุบัน อาเซียนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2551 ไทยส่งออกไปอาเซียน 38,070.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ร้อยละ 21.41 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ ซึ่งนับว่าสูงกว่าการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างญี่ปุ่น (11.29), สหรัฐอเมริกา (11.41) และสหภาพยุโรป (13.09) เกือบสองเท่า ส่วนในด้านการนำเข้า อาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของไทย รองจากญี่ปุ่น คือนำเข้ามูลค่า 32,351.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดุลการค้าอาเซียน 5,719.1 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดด้านการส่งออกและสร้างประโยชน์สูงสุดจากการนำเข้าได้แล้ว ก็ยังจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในกลุ่มสมาชิกในด้านการค้าขายไม่ว่าจะระหว่างประเทศในกลุ่มหรือกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ที่อาจยังประโยชน์ให้กับประเทศไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกอาเซียนได้อีกด้วย
2. การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้เกิดตลาดในภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ โดยสามารถนำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาเสริมกับจุดแข็งของประเทศไทยเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดในการผลิต ส่งออกและบริการ ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรีมากขึ้น นอกจากนี้ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยให้ประเทศสมาชิกมีความเป็นปึกแผ่นและช่วยสร้างอำนาจการต่อรองในเวทีต่าง ๆ มากขึ้น
3. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในด้านการค้าและการลงทุนของไทย เนื่องจากการผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะก่อให้เกิดการยกเลิกหรือลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรค์ด้านภาษีหรือมาตรการทางการค้าอื่น ๆ ที่มิใช่ภาษี เนื่องจากประเทศสมาชิกจะแสวงหาความร่วมมือเพื่อลด/ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านั้น รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
4. ประชาคมเศรษฐกิจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เริ่มปรับตัวและเตรียมความพร้อมกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและใช้โอกาสที่เกิดจากการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสาขาที่ไทยมีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อะไรจากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
โอกาส
1. ไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษีจะลดลงหรือหมดไป และกฎระเบียบต่าง ๆ จะมีการปรับประสานเพื่อให้สอดคล้องและเอื้อประโยชน์ในกลุ่มสมาชิกมากขึ้น
2. การรวมตัวเป็นตลาดเดียว จะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาในอาเซียน รวมทั้งไทยมากขึ้น
3. ผู้ประกอบการไทยในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็ง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยว การบริการด้านสุขภาพและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องเร่งศึกษาหาลู่ทางการปรับตัว และใช้โอกาสจากการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
ความท้าทาย
1. สำหรับสาขาอุตสาหกรรมที่ไม่พร้อมในการแข่งขัน หรือที่ไทยไม่มีความได้เปรียบในด้านต้นทุน คงได้รับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการรวมตัวและเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ภาครัฐจึงได้พยายามเจรจาผลักดันในประเด็นที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นการสร้างความพร้อมให้กับภาคเอกชนทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎเกณฑ์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือในการเตรียมพร้อมและปรับตัวสำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี
2. การเปิดตลาดภายในอาเซียนเป็นเรื่องที่มีการหารือ ประสานงาน และผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเวลานี้ ยังมีความยืดหยุ่นและผ่อนปรนให้กับสาขาที่อ่อนไหวสูงของประเทศสมาชิก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยก็จะเจรจาต่อรองด้วยความระมัดระวังสูงสุดเพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญ และเพื่อลดโอกาสของการเกิดผลกระทบในทางลบให้ได้มากที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ดรรชนี นวลเขียว duchanee@124comm.com
เอกภพ พันธุรัตน์ Eakkapop@124comm.com
บมจ. 124 คอมมิวนิเคชั่นส
โทร 02-662-2266