กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--อุทยานการเรียนรู้ TK park
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเกมไดโน ไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทยขึ้น ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park โดยร่วมมือกับ Imagimax ในการค้นคว้าวิจัยและวางแผนการกำเนิดเกมไดโนเสาร์ ได้รับเกียรติจากดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ขึ้นกล่าวความเป็นมาของโครงการ คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ อนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ขึ้นกล่าวในฐานะผู้สนับสนุนโครงการ และเข้าสู่การเปิดงานด้วยการกะเทาะเปลือกไข่ให้กำเนิดซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ ซึ่งเป็นตัวเอกของเกม โดย คุณราเมศ พรหมเย็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ในบรรยากาศท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมไปด้วยไดโนเสาร์และพืชพันธุ์โบราณในสมัยโลกล้านปีที่ทั้งสนุกและอบอุ่น
“ตามนโยบายของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ เรามีภารกิจที่สำคัญคือเรื่องของการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป การส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ ที่ไม่ได้เน้นอยู่เฉพาะแค่หนังสือ แต่จะเป็นสื่อนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งวันนี้เราขอเสนอเกมไดโน ไดโน่ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทย ซึ่งเกมนี้นับเป็นเกมที่ห้าที่ทางสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ได้สร้างสรรค์ขึ้น ทุกครั้งที่จัดงานเด็กๆก็จะเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมไม่ทำเรื่องไดโนเสาร์บ้าง จากจุดนี้เราจึงดึงเรื่องไดโนเสาร์มาสร้างเป็นเกมขึ้นมาโดยได้รับความร่วมมืออย่างดีระหว่างองค์กรภาคีเครือข่าย เกมนี้เรากำหนดอายุไว้ประมาณ 7-12 ปี และหากว่าเขามีความสนใจในจุดนี้ เราก็อาจจะได้นักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็ได้” ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กล่าว
นอกจากนี้ในงานยังมีการเสวนาเรื่อง ไดโน ไดโน่ เกมสร้างสรรค์ฝีมือคนไทย โอกาสก้าวไกลสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จาก มรว.นงคราญ ชมพูนุช ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) คุณเพิ่มบุญ เอี่ยมสุภาษิต ประธานนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา (ลุงหมูนักล่าไดโนเสาร์) คุณเกรียงไกร ศุภรสหัสรังสี ผู้แทนทีมสร้างเกมจากบริษัท Imagimax และคุณวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้แทนคณะทำงานฯ จากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ โดยมีคุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
“ตอนที่เริ่มโครงการ เราสำรวจค้นหาจนเรารู้ว่าประเทศไทยมีไดโนเสาร์และเราก็รู้ว่าไดโนเสาร์หน้าตาเป็นอย่างไร ถึงแม้จะยังเจอในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ การที่จะออกมาเป็นเกม เราต้องทำให้มันมีชีวิต กำหนดรูปร่างหน้าตา ขนาด และบุคลิก รวมถึงลักษณะนิสัยด้วย เราใช้การประเมินโดยเทียบกับสัตว์ในปัจจุบัน ประเมินสภาพแวดล้อมและขนาดของลำตัว ซึ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการเดิน การวิ่ง การป้องกันตัว การจู่โจมและการเอาชีวิตรอดของไดโนเสาร์ไทย” ดร.วราวุธกล่าว
คุณเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดทำเกม Edutainment ครั้นจะทำให้เป็นตัวไดโนเสาร์ตัวจริงๆ เด็กก็จะไม่ชอบ เราจึงทำให้ตัวเล็กๆ ดูแฟนตาซี ให้มีความแตกต่างในเรื่องของขนาด สี รูปร่างพื้นฐาน เรียกว่าถอดรูปจากวิชาการกลายเป็นการ์ตูน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เด็กหลงเข้าใจผิดว่าไดโนเสาร์ตัวจริงหน้าตาแบบนี้ ดังนั้นในเกมนี้จะมีไดโนไดอารี่ เมื่อคลิกเข้าไปจะเห็นไดโนเสาร์ตัวเต็ม พร้อมทั้งข้อมูลจริงๆ ของไดโนเสาร์ไทย และสำหรับวิธีการเล่นเกมจะแบ่งตาม stage เช่นด่านแรก เรียนรู้จากพืชพันธุ์ ระหว่างที่ไดโนเสาร์เดินทางตามหาพ่อที่พลัดพรากไป เด็กๆจะไปเจอไอเท็มต่างๆ เขาจะได้รู้ว่ายุดไดโนเสาร์มีไม้ดอกบางประเภทที่ปัจจุบันยังมีอยู่ให้เห็น เช่น ใบแปะก๊วย ดอกแมกโนเลีย เป็นต้น”
ในการเสวนา มรว.นงคราญ ชมพูนุช ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมของสถานการณ์งบประมาณการผลิตเกมในประเทศไทยว่า ในด้านมีเดียได้รับงบประมาณ 608 ล้านจากรัฐบาลให้มาส่งเสริมด้าน digital content และปีหน้าทางสำนักงานจะจัดการประกวด Asia Game Award ที่กรุงเทพฯ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จึงเชิญชวนให้ผู้ผลิตเกมส่งผลงานเข้าประกวดด้วย
คุณเพิ่มบุญกล่าวต่อว่า “เกมไดโนเสาร์ เป็นเกมที่เราสามารถนำความรู้ของคนไทยมาประยุกต์ เด็กจะรู้สึกว่าเป็นของใกล้ตัว เรียกว่าเอาความเป็นไทยมาปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้ไปกับวัฒนธรรมที่เคลือบผ่านนวัตกรรม เพื่อให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย เพราะเรากำลังพูดถึงสถานที่ของไทย เช่นอยู่ที่ภูเวียง อยู่ที่จังหวัดเลย เมื่อเด็กเขาเดินทางไปกับครอบครัว เขาจะจำได้และจะเรียนรู้ได้เร็วกว่า”
ภายในงานยังมีพิธีมอบเกมและสื่อการเรียนรู้ให้แก่หน่วยงานต่างๆ โดยคุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ อนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และคุณจุลลดา มีจุล หัวหน้าฝ่ายวิชาการและพัฒนาเครือข่าย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติให้กับผู้แทนจากพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา จังหวัดกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน บ้านโกรกเดือนห้า จังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี
“นี่คือเกมเดียวในโลกที่เป็นเรื่องราวของไดโนเสาร์ไทยโดยฝีมือคนไทยที่ทั้งสนุกและมีสาระ มีการค้นคว้าผ่านทางไดอารี่ในตัวเกม ได้เล่นและเรียนไปพร้อมๆกัน คือ play and learn รวมกันเป็นเพลิน มีข้อมูลที่ถูกต้องที่ผ่านทางผู้เชี่ยวชาญทางด้านไดโนเสาร์ไทย และเกมไดโน ไดโน่นี้นับเป็นเกมแรกของ TK park ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ในต้นเดือนกันยายนผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ www.tkpark.or.th คุณวัฒนชัยกล่าวปิดท้าย
ไดโน ไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทย เกมสร้างสรรค์ที่กระตุ้นให้เด็กๆเกิดการเรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์และโลกดึกดำบรรพ์ได้อย่างลึกซึ้งและสนุกสนาน เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กได้แล้ววันนี้ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 เซ็นทรัล เวิลด์