รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2549

ข่าวท่องเที่ยว Thursday December 28, 2006 13:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2549 ว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังโดยรวมในเดือนพฤศจิกายน 2549 ยังคงได้รับปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกที่ยังขยายตัวดีมาก และภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ภาวะเศรษฐกิจภายนอกในเดือนพฤศจิกายนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มราคาน้ำมันที่ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า สำหรับเครื่องชี้ภาคการคลังพบว่าการจัดเก็บรายได้ขยายตัวสูงขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวลดลง ซึ่งเกิดจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2550 ล่าช้า โดยรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 106.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.7 ต่อปี ขณะที่ด้านรายจ่ายงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2549 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 111.7 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ -16.5 ต่อปี เนื่องจากการเบิกจ่ายงบลงทุนในเดือนพฤศจิกายนเพียง 18,626 ล้านบาท เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้ประมาณ 41,331 ล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -54.9 ต่อปี
เครื่องชี้ในด้านอุปทานพบว่า การผลิตภาคเกษตรในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตหลายชนิดอยู่ในช่วงฤดูการผลิตและเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -6.8 สาเหตุมาจากราคาอ่อนตัวจากภาวะผลผลิตเข้าสู่ตลาดค่อนข้างมาก ขณะที่เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมบ่งชี้ถึงสภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย โดยมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบในเดือนตุลาคมขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี ลดลงจากร้อยละ 13.9 ต่อปี ในเดือนก่อน และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปีขยายตัวลดลงจากร้อยละ 5.8 ต่อปีในเดือนก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกยังขยายตัวได้ดี ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวพบว่ากลับมาขยายตัวได้ดีมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 18.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ หลังเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนกันยายน 2549
เครื่องชี้การใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี ในเดือนพฤศจิกายน ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในรูปเหรียญสหรัฐเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากร้อยละ 9.5 ต่อปี ในเดือนตุลาคม ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนภาคการก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดยภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักร โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ในเดือนพฤศจิกายนจากที่หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออกเดือนพฤศจิกายนยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 11,871.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้ามูลค่าการนำเข้ายังคงขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอลง โดยการนำเข้าเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าทั้งสิ้น 10,129.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี ส่งผลทำให้ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในปี 2549 และดุลการค้าประจำเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี จำนวน 1,742.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
เสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี หนี้สาธารณะในเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 41.1 ของ GDP ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ทุนสำรองระหว่างประเทศยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างเนื่อง เป็นผลจากการเกินดุลการค้าในระดับสูง และมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเข้ามาในตลาดการเงิน โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 64.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 62.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนตุลาคม สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนแม้จะปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี เนื่องจากภาวะน้ำท่วมได้ส่งผลทำให้ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังของปี 2549 น่าจะปรับตัวลดลงจากครึ่งแรกค่อนข้างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ