ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ชุดใหม่ “บ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส” ที่ระดับ “AA/Stable”

ข่าวทั่วไป Wednesday August 16, 2006 08:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตตราสารหนี้ชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 13,000 ล้านบาทของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA” พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “AA” เท่ากัน และคงแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตมาจากพื้นฐานความเป็นผู้นำในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยที่มีฐานลูกค้ากว้างขวาง และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งแม้ว่าศักยภาพในการเติบโตของบริษัทจะมีค่อนข้างจำกัดในระยะปานกลางก็ตาม นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังมาจากความสามารถของคณะผู้บริหาร ตลอดจนชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับ และความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่องซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการต่างลดอัตราค่าบริการลงอย่างมากในปี 2548 รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงอัตราการกู้ยืมของบริษัทที่จะสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาปานกลาง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสจะสามารถรักษาผลประกอบการที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้อันเนื่องมาจากการเป็นผู้นำในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่และประสบการณ์ของผู้บริหาร ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางสถานะทางการเงินของบริษัทอาจจะด้อยลงจากปัจจุบันเนื่องจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพของโครงข่ายและเพื่อลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูงกว่าอัตราที่เคยจ่ายมาในอดีตของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของทั้งผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า แม้จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยโดยรวมจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2542-2547 แต่ในปี 2548 อัตราการขยายตัวกลับชะลอตัวลง โดยยอดผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 มีประมาณ 32 ล้านราย เทียบกับ 30 ล้านราย ณ สิ้นปี 2548 อัตราการเติบโตของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2549 อยู่ที่ระดับ 6% เทียบกับระดับเฉลี่ย 12% ของปี 2548 ทั้งปี โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 อัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ระดับ 51% ซึ่งแนวโน้มในการขยายตัวในอนาคตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงมีอยู่ แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสคงความเป็นผู้นำในการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 54% (ซึ่งรวมผู้ใช้บริการของบริษัทย่อยคือ บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด) ด้วยประสบการณ์และความสามารถของผู้บริหาร ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่พอเพียงช่วยให้บริษัทสามารถลงทุนจำนวนมากในการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบภายในเพื่อให้บริการที่มีคุณภาพสูงแก่ลูกค้า บริษัทจะยังคงได้รับประโยชน์จากชื่อเสียงที่แข็งแกร่ง เครือข่ายที่มีคุณภาพสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น และมาตรการทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 บริษัทมียอดผู้ใช้บริการ 16.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.4% จากยอด ณ สิ้นปี 2548 ใน
ขณะที่ยอดผู้ใช้บริการโดยรวมทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 6% อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นผู้นำทางการตลาดและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ตลอดจน
การมีสภาพคล่องที่พร้อมในการลงทุนใหม่ๆ และชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับ จึงคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจต่อไปได้
ผู้บริหารของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการแก้ปัญหาทั้งในเรื่องของภาวะการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปและการพัฒนาเทคโนโลยี บริษัทยังประสบความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว และเนื่องจากอัตราการขยายตัวของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ผู้บริหารจึงมีการวางแผนในการรักษารายได้และกำไรในอนาคตโดยจะขยายสัดส่วนรายได้จากบริการด้านข้อมูลและภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเนื่องจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและการมีผลประกอบการที่ดีมากอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง
จาก 50% ณ สิ้นปี 2545 มาอยู่ที่ระดับ 22% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 การที่บริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและความสำเร็จจาก
กลยุทธ์การควบคุมค่าใช้จ่ายทำให้บริษัทสามารถคงอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ในระดับสูงที่ 51% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2549 แต่คาดว่าบริษัทจะไม่สามารถรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ได้ในอนาคตเนื่องจากบริษัทต้องจ่ายค่าสัมปทานสำหรับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบลงทะเบียน (Postpaid) เพิ่มขึ้นจาก 25% ของรายได้เป็น 30% มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 และเนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดภายในที่แข็งแกร่ง โดยที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อปีของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับ 35,000-40,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ