บริษัทแอบบอท ปฏิเสธที่จะขายยาต้านไวรัสตัวสำคัญที่ได้รับการพัฒนารูปแบบใหม่ให้ประเทศในเอเชีย

ข่าวทั่วไป Thursday July 6, 2006 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--องค์การหมอไร้พรหมแดน
องค์การหมอไร้พรมแดน องค์การเพื่อมนุษยชนระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า บริษัท แอบบอท แลบอราทอรี่ส์ จำกัด ยังคงปิดโอกาสผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ในเอเชียหลายประเทศซึ่งกำลังมีความต้องการอย่างเร่งด่วนในตัวยาต้านไวรัสสูตรสำรอง lopinavir/ritonavir ที่ได้รับการพัฒนารูปแบบใหม่ หรือในชื่อการค้า Kaletra รูปแบบเม็ด
หลังจากที่ทางองค์การหมอไร้พรมแดนต้องสั่งซื้อด้วยความยากลำบากและมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก บริษัท แอบบอท ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ชิคาโกได้เริ่มการจัดส่งยารูปแบบใหม่นี้ในจำนวนที่จำกัดให้กับโครงการขององค์การหมอไร้พรมแดนในแอฟริกาเพียงไม่กี่แห่ง ในราคา 500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตาม บริษัทแอบบอทกลับปฏิเสธที่จะขายยาเพื่อมารักษาผู้ติดเชื้อฯในประเทศไทย และกัวเตมาลา นอกจากนี้ บริษัทแอบบอทยังพยายามถ่วงเวลาการยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับยาในประเทศกำลังพัฒนาให้ล่าช้าออกไป ทำให้ยาต้านไวรัสสูตรสำรอง lopinavir/ritonavir รูปแบบใหม่ไม่มีขายในหลายประเทศ และผู้ติดเชื้อฯจำนวนมากก็ไม่มีปัญญาจะเข้าถึงยาดังกล่าวได้
ยา lopinavir/ritonavir รูปแบบใหม่เป็นยาต้านไวรัสสูตรสำรอง ซึ่งแนะนำให้ใช้โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องจากยารูปแบบใหม่นี้ได้ถูกพัฒนาให้มีข้อได้เปรียบในหลายด้าน เมื่อเปรียบเทียบกับยาในรูปแบบเก่า คือ กินน้อยเม็ดลง ไม่ต้องเก็บในตู้เย็นตลอดเวลา และไม่ต้องกินพร้อมมื้ออาหาร อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทแอบบอทซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเดียวในขณะนี้ไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนตำรับยา จึงเป็นไปไม่ได้เลยว่า ผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงยาชนิดนี้ได้ ในประเทศจีน ถึงแม้ยาจะถูกขึ้นทะเบียน แต่บริษัทแอบบอทเลือกที่จะไม่ทำการตลาด หรือ เลือกที่จะไม่ขายยาให้กับประเทศนี้เลย
ในอินเดีย อุณภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส กระแสไฟฟ้าตกบ่อยๆทำให้ยารูปแบบเก่าใช้ไม่ได้ และแม้ว่า สหประชาชาติจะระบุว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์สูงมากติดอันดับโลก แต่ยารูปแบบใหม่ก็ไม่มีวางขาย สถานการณ์นี้เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
“ในประเทศไทย อากาศร้อน อุณหภูมิเกิน 30 องศาเซสเซียสเกือบตลอดทั้งปี ยาชนิดนี้ในรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น เป็นข้อได้เปรียบอย่างมากในการนำเข้ามารักษาผู้ป่วย แต่บริษัทแอบบอทกลับปฏิเสธที่จะขึ้นทะเบียนฯ” นายแพทย์เดวิด วิลสัน (Dr. David Wilson) แพทย์ประจำองค์การหมอไร้พรมแดนในประเทศไทยกล่าว “แต่บริษัทแอบบอทกลับบอกให้เราใช้ยารูปแบบเก่า ทั้งๆที่ยารูปแบบนี้ถูกโละออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาหมดแล้ว ชัดเจนว่า นี่เป็นยาชั้นสอง”
ยารูปแบบเก่าไม่เพียงแต่เป็นยาตกรุ่น แต่ยังเป็นยาที่มีราคาแพงอย่างมากในหลายพื้นที่ของเอเชีย นายแพทย์วิลสัน สรุปว่า “ด้วยการตั้งราคาขายให้ประเทศที่ยากจนที่สุดในราคา 500 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี บริษัทแอบบอทกำลังดำเนินนโยบายกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆอย่างจงใจ”
ขณะนี้มีความต้องการของผู้ติดเชื้อที่ดื้อยาต้านสูตรพื้นฐานและจะต้องเปลี่ยนไปรับยาต้านสูตรสำรองมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า โครงการให้ยาต้านไวรัสของประเทศต่างๆ และองค์กรที่ให้การสนับสนุนงบประมาณจะไม่สามารถแบกรับราคายาต้านสูตรสำรองที่แพงกว่ายาต้านสูตรพื้นฐานอย่างมาก ในประเทศไทย บริษัทแอบบอท ขายยา lopinavir/ritonavir รูปแบบเก่าในราคาอย่างน้อย 2,800 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี นั่นหมายความว่า จะต้องใช้เงินมากกว่า 10 เท่าในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องเปลี่ยนไปรับยาต้านฯสูตรสำรองที่มียาชนิดนี้รวมอยู่ด้วย
“นี่คือกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของการปล่อยให้มีการผูกขาดผลิตยาเพียงเจ้าเดียวซึ่งผลของมันทำร้ายประชาชน” นายแพทย์ ทีโด เวินเฉิน แองเกอเฮค (Dr. Tido von Schoen-Angerer) แพทย์ประจำโครงการเพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรมแดน กล่าว “เราต้องการการแข่งขันจากบริษัทยาชื่อสามัญในยาจำเป้นใหม่ๆ เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ยามีจำหน่ายมากขึ้น และคนเข้าถึงยาได้มากขึ้น มันไม่ควรอยู่ที่การตัดสินใจของซีอีโอในชิคาโกว่า ใครควรเข้าถึงยาที่จะสามารถรักษาชีวิตเขาได้”
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณนาธาน ฟอร์ด เจ้าหน้าที่โครงการเพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น 09-0414565
นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงการรักษา 05-0708954
ข้อมูลเพิ่มเติม
ถึงแม้ว่า จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่า ในปี 2549 นี้มีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อต้องการใช้ยา LPV/r ประมาณ 8,000 คน แต่จากราคาที่แพงมาก ทำให้งบประมาณของรัฐบาลที่มีอยู่สามารถจัดหายาให้ผู้ติดเชื้อได้เพียง 500 คนเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ