กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
กทม.เตรียมมาตรการเฝ้าระวังกาฬโรคปอด เร่งให้ความรู้ผู้ประกอบการในตลาดและพื้นที่เสี่ยง รักษาความสะอาดในบริเวณแผงค้า กำจัดหนู และสัตว์นำโรคอื่นๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ตัดวงจรการแพร่ระบาดของเขื้อ พร้อมจัดกิจกรรม Big Cleaning Day พร้อมกันทั่วกรุงเทพฯ กันยายนนี้
ร.อ.น.พ.พิทักษ์ ฐานบัญชา รองโฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 24/2552 ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม เกี่ยวกับสถานการณ์กาฬโรคปอดในกรุงเทพมหานคร ว่าในขณะนี้ยังไม่พบการระบาดในเขตกรุงเทพฯ แต่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการระบาด คือ ตลาด สถานประกอบการต่างๆ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม โรงงาน รวมถึงชุมชนแออัด ท่าเรือ ท่าอาศยาน และพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศ
รองโฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อกาฬโรค โดยส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักอนามัยออกวางเหยื่อดักหนูในตลาดสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 7 แห่ง เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อหาดัชนีหมัดและเชื้อกาฬโรค พร้อมขอความร่วมมือเจ้าของตลาดเอกชนทั้ง 143 แห่ง ในการให้คำแนะนำแก่ผู้ค้าให้จัดเก็บสินค้าในแผงค้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู แมลงและสัตว์นำโรคต่างๆ พร้อมทำความสะอาดบริเวณแผงค้าและใต้แผงค้า รางระบายน้ำภายในตลาดและรอบตลาด ที่พักขยะสาธารณะ ที่พักขยะประจำแผงเป็นประจำทุกวัน ไม่ให้มีเศษขยะมูลฝอยตกค้าง โดยให้ล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และกำจัดหนู สัตว์ และแมลงนำโรคอื่นๆ ที่ยังมีชีวิต โดยฆ่าหมัดด้วยยาฆ่าหมัดหรือยาฆ่าแมลง เพื่อให้หมัดหนูตายก่อนแล้วจึงกำจัดหนูต่อไป พร้อมกันนี้ ได้เตรียมจัดกิจกรรม Big Cleaning Day พร้อมกันทั่วกรุงเทพฯ ในเดือนกันยายนนี้
ทั้งนี้ กาฬโรคปอด ถือเป็น 1 ใน 5 โรคติดต่อร้ายแรง คือ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ กาฬโรค ไข้เหลือง และซาร์ส โดยมีสาเหตุจากเชื้อแบซิลไล Yersinia Pestis ซึ่งคนจะได้รับจากการที่หมัดไปกัดสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะแล้วมากัดคน หรือจากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง การหายใจเอาละอองฝอย เสมหะ น้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้อจากผู้ที่เป็นโรคหรือจากหนู หมัดหนู สูดเข้าไปเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะและปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการต่อมาอาจพบได้ 3 ลักษณะ คือ ชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Bubonic plague) ชนิดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemic plague) และชนิดกาฬโรคปอด (Pneumonic plague) ด้านการรักษาควรรีบคัดแยกผู้ป่วย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พร้อมรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น สเตรปโตไมซิน คานาไมซิน เตรตร้าซัยคลิน หรือคลอแรมฟีนิคอล