กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--กบข.
นางสาววริยา ว่องปรีชา รองเลขาธิการสายบริหารงานสมาชิก รักษาการ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าปัจจุบันโครงสร้างสังคมไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรยืนยาวขึ้น และเป็นที่มาของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะตามมาในภายหลัง นั่นหมายความว่าคนไทยจำเป็นต้องมีการการวางแผนการออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณที่ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่าประชาชนโดยรวมร้อยละ73 ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนใดเพื่อรองรับในยามเกษียณ มีเพียงร้อยละ 23.3 เท่านั้นที่เป็นสมาชิกกองทุน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดกองทุนการออมเกิดขึ้น โดยเป็นการออมในรูปแบบกองทุนการออมเพื่อวัยเกษียณ เพราะในระยะยาวแล้วการเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินหรือไม่มีหลักประกันใดๆ เลยจะกลายเป็นภาระของคนในครอบครัว สวัสดิการจากภาครัฐก็อาจจะครอบคลุมไปไม่ทั่วถึง
สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ถือเป็นกองทุนหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ในการเป็นกองแหล่งระดมเงินออมระยะยาว รวมทั้งสนับสนุนให้ข้าราชการกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศได้ออมเงินเพื่อไว้ใช้ในการยังชีพหลังเกษียณอายุ และมุ่งหวังให้เป็น กองทุนที่มีบทบาทสำคัญในการระดมเงินออมเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ
เฉกเช่นเดียวกันกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ ในประเทศทั้งในส่วนภาครัฐบาลและเอกชนที่ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนเพื่อการชราภาพ กองทุน RMF หรือแม้กระทั่งกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ที่อยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงในอนาคตสำหรับคนไทย
สังคมไทยจึงควรให้ความสำคัญกับระบบการออมในระยะยาวที่เป็นระบบระเบียบแบบแผน และมีความสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในวัยทำงานซึ่งควรเริ่มมีการเก็บออมผ่านกองทุนหรือระบบการออมผ่านผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อให้บริหารจัดการเงินก้อนสุดท้ายได้ทำงานงอกเงยอย่างมีประสิทธิภาพ