“เปลือยร่าง” หน้ากากเปลือย

ข่าวทั่วไป Friday August 14, 2009 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล “เปลือย” แล้วนึกถึงอะไร เปลือยแบบไหน แล้วจะเปลือยดีหรือเปล่า?? ...อย่า อย่าเพิ่งตัดสินใจตอนนี้ “เปลือย” คำนี้จิตนาการได้ไกลไปถึงไหนต่อไหน และเท่าที่อยู่ในสำนึกตอนนี้อาจจะออกแนวสองแง่(สิบง่าม) ไปเลยด้วยซ้ำ แต่คงต้องแอบซ่อนไว้ในมโนส่วนลึกตรงนั้นต่อไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มหนึ่งออกมาเปลือยให้เห็นเป็นตัวอย่าง แถมปลดเปลื้องจนหมดคราบชนิดที่เรียกว่าไม่มีอะไรแอบแฝงเลยทีเดียว อย่า! อย่าเพิ่งคิดเตลิดเปิดเปิงไปไกล เพราะที่เอ่ยมาทั้งหมดกำลังพาดพิงถึง เครือข่ายละครหน้ากากเปลือย ชุมชนคนรักการละครที่ตอนนี้หันมาสนใจงานด้านจิตอาสากับเยาวชน และกำลังตั้งหน้าตั้งตาถ่ายทอดวิทยายุทธด้านการละครให้แก่น้องๆ เยาวชน เพื่อเป็นอาวุธ (เครื่องมือ)ในการเผยแพร่แนวคิดจิตอาสา เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า เปลือย หน้ากากเปลือยกับการปลูกฝังแนวคิดจิตอาสาจะมาเชื่อมโยงกันได้อย่างไร? นินาท บุญโพธิ์ทอง หัวหน้าโครงการบูรณาการกระบวนการละครกับจิตอาสาสำหรับเยาวชน เครือข่ายละครหน้ากากเปลือย (Naked Masks) เล่าว่า เดิมที “หน้ากากเปลือย” เป็นชื่อบทละครสั้นเรื่องหนึ่งที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาการดำรงอยู่ของมนุษย์ (ได้ยินแค่นี้ก็ขนลุกแล้ว) เขาเล่าต่อว่า บทละครสั้นหน้ากากเปลือยแสดงให้เห็นเนื้อแท้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่ต่างคนต่างต้องสวมบทบาทหลายหลากเข้าหากัน แต่ไม่สามารถกำหนดบทบาทที่แน่นอนตายตัวได้ บางคนมีบทบาทหนึ่งในสถานการณ์หรือในสังคมหนึ่ง แต่พอเปลี่ยนสังคมเขากลับต้องสวมบทบาทใหม่ โดยที่เขาอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ลองนึกตามที่ นินาท เล่าให้ฟัง ก็จริงที่คนเราต่างคนต่างมีบทบาทมากมาย บางคนอยู่บ้านเป็นลูกของแม่ แต่เป็นหัวหน้าของลูกน้องนับร้อย หรือในทางกลับกันหลายคนเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่เมื่อเปลี่ยนไปอยู่อีกสถานที่หนึ่งก็ต้องทำงานตามคำสั่งเจ้านาย จะว่าไปบางทีมนุษย์ก็ใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่นด้วยซ้ำ ถึงตรงนี้ นินาทบอกว่า กระบวนการละครจะช่วยถอดบทบาทต่างๆ ของมนุษย์ออกไป ดึงความเป็นตัวเองของแต่ละคนออกมา คล้ายๆ ถอดหน้ากาก หรือ หน้ากากเปลือย นั่นเอง เครือข่ายละครหน้ากากเปลือยเปิดม่านร้อยฉากงานละครมาเกือบทศวรรษตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 และเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้วที่พวกเขาเข้ามาสร้างกระบวนการละครเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน เริ่มต้นจากความเชื่อเล็กๆ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล “จากประสบการณ์ทำงานหน้ากากเปลือยเชื่อว่าการทำละครมีส่วนช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้ ค้นพบศักยภาพของตนเอง และพร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง เราเห็นเด็กหลายคนเมื่อผ่านกระบวนการละครแล้ว เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น ก่อนแสดงนักแสดงต้องเข้าใจบทบาทของตัวละครแต่ละตัวอย่างลึกซึ้ง ผ่านวิธีคิดง่ายๆ คือ เราจะเข้าใจผู้อื่นได้ก็ต่อเมื่อเรามองผู้อื่นจากมุมของเขาและจากสิ่งที่เขาเป็น แล้วเราจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น แล้วควรปฎิบัติกับเขาอย่างไร กระบวนการละครจะสอนให้คิดถึงคนอื่น ดังนั้นเมื่อเด็กผ่านกระบวนการละคร เด็กจะเข้าใจผู้อื่นและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมมากขึ้น” นินาท เอ่ยขึ้นด้วยแววตามุ่งมั่น ส่วนโครงการ “บูรณาการกระบวนการละครกับจิตอาสาสำหรับเยาวชน” ที่เครือข่ายละครหน้ากากเปลือยกำลังลงพื้นที่เข้าไปเบิกโรงตามโรงเรียนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 25 โรงเรียนในปีนี้ อาทิโรงเรียนสาธิต มศว. ประสานมิตร, โรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้าฯ, โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ ฯลฯ นินาทย้ำชัดถึงเป้าหมายที่มุ่งหวังให้เยาวชนนำกระบวนการละครมาพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และส่งไม้ต่อความรู้ไปยังเพื่อนๆ คนรอบข้าง และคนอื่นๆ ในสังคม เพื่อสืบต่อแนวคิดจิตอาสา โดยจะเน้นย้ำเด็กและเยาวชนเสมอว่า ละครเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่กิจกรรมจิตอาสาที่เด็กๆ ได้ลงมือทำด้วยตนเอง แล้วถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกเหล่านั้นให้ผู้อื่นรับรู้ซึ่งที่สุดแล้วละครอาจกระตุ้นหรือจูงใจให้ผู้ชมอยากเข้ามาสัมผัสกิจกรรมจิตอาสาได้ “คนที่แสดงละครไม่จำเป็นต้องเป็นนักการละครมืออาชีพ เด็กและเยาวชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมฝึกฝนแล้วนำกระบวนการละครไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น กิจกรรมรณรงค์จิตอาสา ด้วยการนำความรู้และทักษะการแสดงละครไปใช้แสดงละครเวทีหรือเล่านิทานให้ผู้ป่วยฟัง นำละครไปใช้รณรงค์เรื่องขยะรีไซเคิลและการลดโลกร้อน หรือถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้อื่น เหล่านี้เป็นการพัฒนาตัวคนให้เกิดสำนึกจิตอาสา และพัฒนานักกิจกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยพัฒนาสังคม” “ดังนั้น โครงการบูรณาการกระบวนการละครฯ จึงเป็นละครเวทีที่ให้เด็กทำเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่มาทำละครให้เด็กดู ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เล็งเห็นพลังของเด็กและเยาวชนไทย แล้วพร้อมจะผลักดันให้พวกเขาก้าวเดินไปในทิศทางที่ดีร่วมกัน” หัวหน้าโครงการบูรณาการกระบวนการละครฯ เอ่ยขึ้น หลังจากปล่อยให้รุ่นพี่แสดงบทบาทได้ครู่ใหญ่ รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ(ปุ๋ย) สมาชิกเครือข่ายละครหน้ากากเปลือย เลยถือโอกาสสะท้อนบทบาทของตนเองก่อนเข้ามาเรียนรู้กระบวนการละคร ทั้งการันตีอย่างมั่นใจว่า ละครมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนได้ “ที่เห็นชัดเจนมากที่สุดเกิดขึ้นกับตัวปุ๋ยเอง กระบวนการละครทำให้ปุ๋ยใจเย็นลง ฟังคนอื่นมากขึ้น เมื่อก่อนทำงานสายการเมือง บุคลิกจะแข็งกร้าว ไม่ยอมคน เวลาพูดกับคนอื่นหรือทำงานกับคนอื่น จะมุ่งเอาชนะ ไม่ฟังความคิดเห็นคนอื่น ถือความคิดว่าเขาต้องตามเรา ต้องเชื่อเรา แต่ละครกลับเปลี่ยนปุ๋ยให้เป็นอีกคนหนึ่งไปเลย กลายเป็นคนที่ฟังคนอื่น เปิดใจยอมรับความคิดเห็นคนอื่นมากขึ้น ส่วนตัวเลยเชื่อว่าคนเราปรับปรุง และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ เมื่อคนปรับปรุงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น สังคมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย” ในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง ปุ๋ย บอกว่า “เยาวชนต้องการพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก ต้องการพื้นที่เพื่อสื่อสารกับสังคม เมื่อเด็กคนหนึ่งไปทำความดีมา หากจะให้เขาเดินไปบอกกับเพี่อนตรงๆ ว่าเขาเพิ่งทำความดีมานะ เพื่อนอาจมองว่าเป็นเรื่องแปลกหรือจะมาอวดทำไม คนที่ทำความดีเลยไม่กล้าสื่อสารสิ่งดีๆ ที่เขาทำต่อผู้อื่น แต่ละครเข้ามาช่วยเพิ่มศิลปะการสื่อสารให้สวยงาม เราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างมีชั้นเชิงมากขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นออกมาเล่าเรื่องความดี แล้วในที่สุดสังคมจะหันมาสนใจและให้คุณค่ากับการทำความดี” ทุกวันนี้ เครือข่ายละครหน้ากากเปลือย ยังคงทำงานด้วยความมุ่งมั่น และศรัทธาในพลังของเด็กและเยาวชน แล้วพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการละคร เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเองให้แก่เยาวชนต่อไป “แท้จริงแล้วตัวเราคือใครและตัวเราที่อยู่บนโลกใบนี้คืออะไร หน้ากากเปลือยเป็นปรัชญาที่ช่วยตอบคำถามนี้ว่า หากเราเปลือยหน้ากากในทุกบทบาท เราจะคงความเป็นตัวเราไว้ได้ในทุกๆ ที่” นินาทเอ่ยขึ้นด้วยรอยยิ้ม คุณพร้อมจะ “เปลือย” ไปกับพวกเขาแล้วหรือยัง??

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ