กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--ปภ.
อุบัติเหตุจราจรถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 12,000 ราย ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญอย่างต่อเนื่อง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร จึงได้ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจัดการสัมมนาระดับชาติ เรื่องอุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 9 “พลังเครือข่าย เพื่อถนนปลอดภัย : Partnership for Road Safety” ในระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2552 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับทราบนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและร่วมเสนอนโยบายสาธารณะ แนวทางการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะนำไปพัฒนา
ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีเปิดงานโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การเปิดโครงการรณรงค์ “ขับ-ซ้อนมอเตอร์ไซค์ เปิดไฟใส่หมวกกันน็อก ล็อกสายรัดคาง” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และการเปิดการสัมมนาเรื่องอุบัติเหตุจราจรฯ ซึ่งได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาและแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางนโยบายการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจร” การมอบรางวัล Prime Minister Safety Award แก่องค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านความปลอดภัยทางถนน การแสดงนิทรรศการด้านความปลอดภัยทางถนน การบรรยายในหัวข้อต่างๆ เช่น ใบขับขี่รุ่นเยาว์เพื่อถนนปลอดภัย มิติใหม่สู่ความปลอดภัย...มอเตอร์ไซด์กับวัยรุ่น การนำเสนอชุมชนต้นแบบด้านการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน การยกกรณีศึกษาในการจัดการข้อมูลระดับพื้นที่ในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา การขับเคลื่อนด้านการเมาไม่ขับ การจัดการด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ การจัดระบบรถโรงเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้ ปภ.คาดหวังว่าการสัมมนาดังกล่าวจะก่อให้เกิดรูปแบบการป้องกันการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากรถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะ การจัดการและแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง ซึ่งสามารถนำไปขยายผลการพัฒนาให้มีรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นและสร้างความตื่นตัวให้ชุมชนในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรมากขึ้น สุดท้ายนี้ ปภ.ขอเชิญชวนประชาชนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆร่วมงานดังกล่าวได้ในระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2552 ตั้งแต่ เวลา 09.00-16.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร