กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--กรมพัฒนาที่ดิน
กรมพัฒนาที่ดินยืนยัน โครงการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี มาตราส่วน 1 : 4000 มีมาตรฐานความถูกต้องสมบูรณ์สำหรับใช้งานจัดที่ดินทุกประเภท พร้อมโชว์กระบวนการผลิต ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานมาตรฐานของชาติ เน้นเพื่อประโยชน์ประเทศชาติอย่างแท้จริง
นายชัยวัฒน์ สิทธิบุศย์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ในการดำเนินการโครงการจัดทำข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี มาตราส่วน 1 : 4000 ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ มีความก้าวหน้าและมีความสมบูรณ์พร้อมอย่างยิ่ง ในการนำมาใช้ประโยชน์ พร้อมกับขอยืนยันว่ากระบวนการการทำแผนที่ดังกล่าวนี้ ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสมบูรณ์แล้ว และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสีดังกล่าวนี้ จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆด้าน นอกจากนี้หากพิจารณาในแง่ของการลงทุนในการดำเนินการแล้ว จะเห็นได้ว่าโครงการ จัดทำข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี มาตราส่วน 1 : 4000 นี้มีความคุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด เพราะจะเป็นการประหยัดงบประมาณที่เกิดจากหน่วยราชการจัดทำแผนที่ซ้ำซ้อนและโครงการนี้ก็เป็นโครงการที่มีกระบวนการการดำเนินการที่มีคุณภาพตามหลักวิชาการและเป็นระบบมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย และขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินก็มีความพร้อมอย่างเต็มที่ ในการที่จะให้หน่วยงานต่างๆใช้ประโยชน์จากแผนที่ฯนี้
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวด้วยว่า แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี มาตราส่วน 1 : 4000 ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ นี้ จะมามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาของประเทศแทบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิให้กับประชาชนและในเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรนั้น จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยใช้แผนที่ฯดังกล่าวนี้มาเป็นเครื่องมือสำคัญ
โดยที่ ในการจัดทำข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสีนี้ ประกอบไปด้วยกระบวนการต่างๆดังต่อไปนี้
1.งานหมุดหลักฐานภาคพื้นดิน
2.งานขยายจุดบังคับภาพถ่ายทางอากาศ
3.งานจัดทำแบบจำลองระดับสูงเชิงเลข
4.งานแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลข
“ในการดำเนินการโครงการฯดังกล่าวนี้ กรมพัฒนาที่ดินยืนยันถึงความถูกต้องสมบูรณ์ และประโยชน์ในการใช้งาน ว่าแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสีนี้ สามารถที่จะสนองตอบต่อการใช้งานในหน่วยงานราชการต่างๆ ที่มีความประสงค์จะใช้ประโยชน์จากแผนที่ดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจนถึง ณ ปัจจุบันได้มีหน่วยราชการต่างๆ มากมายได้นำภาพถ่ายชุดนี้ไปใช้ผลิตแผนที่ฐานมาตราส่วน 1:4,000 เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง การประปาส่วนภูมิภาค การเคหะแห่งชาติ และจังหวัดต่างๆ ตลอดจน อบต. เป็นต้น” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว
นอกจากนี้การจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี ดังกล่าวนี้ ยังได้ ผ่านการตรวจสอบคุณภาพข้อมูลโดย 4 หน่วยงานที่สำคัญ กล่าวคือ
1.งานหมุดหลักฐานภาคพื้นดิน ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจาก กรมแผนที่ทหาร
2.งานขยายจุดบังคับภาพถ่ายทางอากาศ ได้รับการตรวจสอบคุณภาพจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
3. งานจัดทำแบบจำลองระดับสูงเชิงเลข ได้รับการตรวจสอบคุณภาพจาก บริษัท Consultant of Technology
4. งานแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลข ได้รับการตรวจสอบคุณภาพจาก กรมโยธาธิการและผังเมือง
“โดยหน่วยงานที่เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพงานของเรานั้น เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ มีประวัติผลงานเป็นที่ยอมรับคุณภาพในระดับประเทศและได้ให้การรับรองว่า สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีคุณภาพตรงตามความต้องการและขอยืนยันว่า กระบวนการดังกล่าวนี้เป็นกระบวนการการผลิตแผนที่ ที่เป็นไปตามหลักวิชาการวิศวกรรมแผนที่ ที่เป็นระบบขนาดใหญ่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในกระบวนการผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ของประเทศไทย”
นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ที่ปรึกษาโครงการฯ นี้ ได้แก่ ดร.ดีบุญ เมธากุลชาติ หัวหน้าศูนย์สารสนเทศภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีปริภูมิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนับเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์อย่างสูงในด้านวิศวกรรมสำรวจและเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะ
“กรมพัฒนาที่ดินมีความพร้อมอย่างเต็มที่ ที่จะให้บริการข้อมูลแผนที่ดังกล่าวนี้ให้แก่ส่วนราชการต่างๆที่จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ หากส่วนราชการใดๆที่มีความประสงค์จะนำแผนที่ไปใช้ประโยชน์ สามารถติดต่อได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์”
ข้อมูลจำเพาะ
โดยการจัดทำข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสีนี้ ได้ดำเนินการจัดทำในบริเวณที่ราบที่มีความลาดชันไม่เกิน 35 % ให้มีความถูกต้องของตำแหน่งทางราบที่ 1 เมตร หรือดีกว่า และความถูกต้องทางดิ่งที่ 2 เมตร หรือ ดีกว่า ที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % (บริเวณที่ราบ หรือ มีประชาชนอยู่อาศัย)
ส่วนในบริเวณพื้นที่ลาดชันเกิน 35 % ความถูกต้องของตำแหน่งทางราบที่ 2 เมตร หรือดีกว่า และความถูกต้องทางดิ่งที่ 4 เมตร หรือดีกว่า ที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % (บริเวณภูเขาสูงชัน หรือป่าเขา)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณจรีย์วิบูล บุญชนะโกศล, คุณสุรินทร์ทิพย์ เดชประยูรทรัพย์
โทรศัพท์ 0-2678-0200 ต่อ 2996-9