กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
กู๊ดเยียร์จับมือนาซ่าคิดค้น “ยางสปริง” สำหรับใช้บนดวงจันทร์ และอาจพัฒนาสำหรับใช้บนโลกในอนาคต ต้นแบบยางประหยัดพลังงานที่ไม่มีทางแบน
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาหรือ นาซ่า ร่วมมือกับกู๊ดเยียร์ในการพัฒนายางแบบที่ไม่ใช้ลมสำหรับยานพาหนะขนาดใหญ่ที่ใช้วิ่งในระยะไกลบนดวงจันทร์
นวัตกรรม “ยางสปริง” ซึ่งประกอบด้วยสปริงรับน้ำหนักจำนวน 800 ตัว ได้รับการออกแบบให้สามารถรับน้ำหนักพาหนะที่มีน้ำหนักมากและวิ่งได้ในระยะทางที่ไกลกว่ายางแบบลวดตาข่ายที่ใช้ก่อนหน้านั้นในรถอะพอลโล่ลูนาร์ หรือแอลอาร์วี ซึ่งยางแบบใหม่นี้สามารถใช้ในการสำรวจในระดับที่กว้างไกลกว่าเดิมและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและบำรุงรักษาฐานทัพบนดวงจันทร์ในอนาคต
วีวาเก้ อาสนานี่ หัวหน้าทีมสำรวจประจำศูนย์วิจัยเกลนน์ของนาซ่าในคลีฟแลนด์ให้ความเห็นว่าการพัฒนาครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านข้อกำหนดเกี่ยวกับนวัตกรรม “ด้วยข้อกำหนดที่ผสานทั้งคุณสมบัติด้านการรับน้ำหนักและอายุการใช้งานที่มากขึ้น เราจำเป็นต้องทำการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานกับยางที่ใช้บนดวงจันทร์ที่พัฒนามาก่อนหน้านี้ สิ่งที่กู๊ดเยียร์และนาซ่าร่วมกันพัฒนานับเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากแนวคิดง่าย ๆ ในการนำสปริงมาถักทอเป็นโครงข่ายขึ้นมาแต่กลับให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมาก แนวการออกแบบยางแทบจะเหมือนกับการนำดีไซน์เก่า ๆ มาดัดแปลง ซึ่งนวัตกรรมที่โดดเด่นส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นจากวิธีการแบบนี้ทั้งนั้น”
ยางสปริงได้รับการติดตั้งในรถยนต์พลังไฟฟ้าลูน่าร์ของนาซ่าและทดสอบวิ่งที่สนามทดสอบ “ร็อคยาร์ด” ที่ศูนย์อวกาศจอห์นสันในฮูสตัน และสามารถใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม
จิม เบนซิ่ง หัวหน้าทีมพัฒนาในโครงการดังกล่าวของกู๊ดเยียร์กล่าวว่า “ยางสปริงมีความทนทานสูงมากและยังประหยัดพลังงานดีมากเช่นกัน เส้นสปริงที่ขึ้นเป็นรูปยางช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะพื้นผิวได้ดีขึ้น และพลังงานทั้งหมดที่ทำให้ยางเปลี่ยนรูปไปจะคืนกลับเมื่อสปริงคืนตัว ยางสปริงจึงไม่ร้อนเหมือนยางทั่วไปเมื่อใช้งานไปนาน ๆ”
ทีมวิศวกรของกู๊ดเยียร์กล่าวว่า การพัฒนายางสำหรับใช้กับรถอะพอลโล่ลูน่าร์ทั้งแบบเดิมและแบบยางสปริงตัวใหม่เกิดขึ้นจากหลักการที่ว่ายางเติมลมทั่ว ๆ ไปที่ใช้งานบนพื้นโลกแทบจะใช้งานบนดวงจันทร์ไม่ได้เลย เนื่องจากคุณสมบัติของยางที่แปรผันอย่างชัดเจนเมื่อเผชิญกับความแตกต่างของอุณหภูมิที่เย็นจัดและร้อนจัดของพื้นที่ในร่มและพื้นที่ที่รับแสงแดดบนดวงจันทร์ ยิ่งไปกว่านั้น แสงอาทิตย์ที่ไม่มีชั้นบรรยากาศกลั่นกรองบนดวงจันทร์ยังทำลายผิวยางอย่างรวดเร็ว ยางเติมลมจึงมีความเสี่ยงที่จะแบนได้ง่ายมาก
อาสนานี่กล่าวเพิ่มว่า ยางสปริงไม่มีปัญหาเรื่อง “ยางแบนจากความเสียหายจากจุดจุดเดียว” ซึ่งหมายความว่า แรงกระแทกหนัก ๆ ซึ่งทำให้ยางลมแตกรั่วหรือแบนจะก่อให้เกิดความเสียหายกับสปริงรับหนักหนักเพียงหนึ่งตัวจากทั้งหมด 800 ตัวที่มีอยู่ ด้วยคุณสมบัติการป้องกันความเสียหายที่ซ้ำซ้อนเช่นนี้ ยางรุ่นนี้จึงผสมผสานทั้งความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่น เหมาะสำหรับยานพาหนะที่ใช้งานสมบุกสมบัน สามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็วบนพื้นผิวที่ขรุขระโดยเกิดความสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยต่อตัวรถ”
นาซ่ามีความภูมิใจกับนวัตกรรมยางสปริงอย่างสูง โดยจัดแสดงข้อมูลโครงการดังกล่าวในนิทรรศการ Day on the Hill เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่อาคารสำนักงานเรย์เบิร์นเฮาส์ ในวอชิงตัน ดีซี ซึ่งอาสนานี่กล่าวว่า “ผมพูดถึงโครงการนี้กับสมาชิกสภาคองเกรส 10 — 15 คน และคณะทำงานประมาณ 60 คน แทบทุกคนที่ผมคุยด้วย ต่างเกิดความตื่นเต้นกับแนวคิดของเทคโนโลยีนี้ซึ่งไม่เพียงแต่พัฒนาขึ้นสำหรับใช้กับยานพาหนะในอวกาศเท่านั้น แต่ยังอาจนำมาใช้กับพาหนะบนโลกของเราในอนาคตได้อีกด้วย”
นอกจากนั้น นาซ่ายังนำเสนอการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในซีรี่ย์วีดิโอประจำปีชุด Hallmarks of Success ซึ่งรวบรวมผลงานอันโดดเด่นต่าง ๆ ของทีมงานของนาซ่าในช่วงปีที่ผ่านมา โดยกู๊ดเยียร์เป็นหนึ่งในบริษัทเพียง 11 บริษัท และเป็นบริษัทผลิตยางเพียงบริษัทเดียวที่ปรากฏในวีดิโอชุดนี้ ผู้สนใจสามารถชมวีดิโอชุดนี้ได้ทางเว็บไซต์ http://www.nasa.gov/offices/ipp/video/hallmarks_moontires_index.html.
ข้อมูลเกี่ยวกับกู๊ดเยียร์
กู๊ดเยียร์เป็นหนึ่งในบริษัทยางที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีพนักงานประมาณ 70,000 คน และมีการผลิตในโรงงานกว่า 60 แห่งใน 25 ประเทศทั่วโลก มีศูนย์นวัตกรรมสองแห่งในแอ็ครอน โอไฮโอ และลักเซมเบิร์ก ซึ่งมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างมาตรฐานทางเทคโนโลยีและคุณสมบัติการใช้งานให้แก่อุตสาหกรรม สามารถรับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.goodyeartires.com
ศูนย์วิจัยนาซ่า จอห์น เอ็ช เกลนน์ เป็นหนึ่งในศูนย์ภาคสนาม 10 แห่งของนาซ่า พรั่งพร้อมด้วยทรัพยากรในการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัยเพื่อสนับสนุนภาระกิจของนาซ่าในการเป็นผู้นำในการสำรวจอวกาศ การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ และการวิจัยด้านอากาศยานศาสตร์ ศูนย์วิจัยดังกล่าวมีการร่วมมือกับรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ในการดำเนินงานเพื่อรักษาความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกของสหรัฐอเมริกา ควบคู่กับการสร้างคุณูปการให้กับชีวิตของผู้คนทั่วโลก
รายละเอียดเพิ่มเติม
บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) มหาชน
นัชชา มีนะกรรณ โทร. 02264 2700 อีเมล์ natcha_minakan@goodyear.com
บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด
จินตนา ดวงแก้ว โทร. 0 2205 6653, อีเมล์ jintana.duangkaew@ogilvy.com
ปัญจพร คู่สามารถ โทร. 0 2205 6626, อีเมล์ punjaporn.koosamart@ogilvy.com