กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ศรีปทุมโพล
“ศรีปทุมโพล” โดยสำนักวิจัย มหาวิทยาศรีปทุมได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครถึงทัศนคติที่มีต่อวิทยาศาสตร์ไทย ในหัวข้อ “การสำรวจทัศนะคติของประชาชนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ไทย” เนื่องในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,000 คน ซึ่ง ดร.ปิยากร หวังมหาพร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้สรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
เมื่อถามถึง รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนยี คนปัจจุบันคือใคร ประชาชนส่วนใหญ่บอกว่าคือ ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช ร้อยละ 43.57 รองลงมา คือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ร้อยละ 28.70, นายอิสสระ สมชัย ร้อยละ 14.00 และนางระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ร้อยละ 13.73
ส่วนสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯต้องเร่งทำมากที่สุด คือ การส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชุมชน ร้อยละ38.37, ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 30.40, ส่งเสริมให้คนประดิษฐ์คิดค้นมากขึ้น ร้อยละ 20.23 และช่วยให้คอมพิวเตอร์ราคาถูกลง ร้อยละ 11.00
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลควรจัดการเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นอันดับแรก คื่อเรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 48.40, พลังงาน ร้อยละ 29.33 และการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
และเมื่อประโยชน์การเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนนั้น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า มีผลนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ร้อยละ 50.37, มีผลต่อการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ร้อยละ 42.47 และไม่มีประโยชน์ ร้อยละ 7.16
ด้านผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า การเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนของไทยในปัจจุบันยังเป็นที่ยอมรับของประชาชนคนไทยและเป็นความหวังของสังคมว่าองค์ความรู้ที่ได้รับจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ คนไทยไม่มองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัวและมองว่าคนที่เรียนวิทยาศาสตร์เก่งเป็นคนฉลาดและมีโอกาสในการศึกษาต่อมากยิ่งขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันยังมีคนบางกลุ่มในสังคมเช่น พนักงานเอกชนที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาในสภาพเศรษฐกิจอันบีบรัดกลับมองว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมาในโรงเรียนกลับไม่มีประโยชน์ต่อตัวเขาเลยถ้าเทียบกับฝีมือและโอกาสที่จะได้งานทำ
เมื่อมองภาพในการประชาสัมพันธ์กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นศูนย์กลางในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนกลับพบว่าคนไทยเกินครึ่งที่ตอบแบบสอบถามกลับไม่ทราบว่า ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนจะรู้จักรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงน้อยมากและกลุ่มแม่บ้านสมองไวกลับรู้จักรัฐมนตรีสุภาพสตรีกระทรวงนี้น้อยที่สุดด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเร่งระดมประชาสัมพันธ์ผลงานให้ปรากฏผลออกสู่สาธารณะชนในภาษาธรรมดาที่ฟังง่าย เข้าใจไวเพิ่มขึ้นโดยต้องเอื้อเฟื้อเป็นพิเศษแก่เด็ก สตรี และคนชรา
ผลงานที่ประชาชนเห็นว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเร่งทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ การให้การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีชุมชนเพราะหัวใจสำคัญของบ้านเมืองยามเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจโลกในขณะนี้คือ การที่คนไทยในทุกภาคส่วนต้องน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลต้องช่วยเร่งสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับชุมชน สร้างชุมชนพอเพียง โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเร่งผลักดันและเสริมสร้างเทคโนโลยีชุมชนให้เข้มแข็ง คนในชุมชนสามารถบริหารจัดการเทคโนโลยีได้ด้วยตนเองโดยอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นฐานสร้างการยอมรับใน การใช้คุณธรรมนำเทคโนโลยีมาใช้ให้สำเร็จ
สิ่งที่ประชาชนฝากฝังให้รัฐบาลเร่งจัดการทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการก็คือปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมเสื่อมโทรมลง คนไทยได้มอบหน้าที่หลักอันนี้ให้รัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และมองว่าสิ่งที่จะจัดการกับมลพิษสิ่งแวดล้อมได้นั้นก็คือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งเจ้าภาพหลักต้องเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความหวังอันนี้อาจตรงข้ามกับการรณณรงค์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายๆประเทศที่พบความจริงและเกิด ดวงตาเห็นธรรมว่า
วิทยาศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาเท่านั้นแต่สิ่งที่จะเป็นตัวป้องกันปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดคือ จิตวิญญาณแห่งความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในตัวมนุษย์ สร้างแค่นี้ให้ได้ วันวิทยาศาสตร์ของทุกๆปี คนไทยจะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน !