กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สสส.
การปลูกฝังเรื่องสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนเป็นงานยากมาทุกยุคสมัย เด็กนักเรียนในหลายโรงเรียนจึงมักประสบกับปัญหาสุขภาวะในด้านต่างๆ เช่น ฝันผุ โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เหา รวมถึงการรักษาความสะอาดส่วนรวม การเรียนการสอนในวิชาสุขศึกษาแบบเดิมๆ ที่เน้นการท่องจำ คงไม่เหมาะกับการสร้างสุขนิสัยที่ดีให้กับเด็ก คำถามในวันนี้จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเด็กจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาให้ รศ.ดร.พรรณี บัญชรหัตถกิจ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน School Health ทดลองนำ ‘นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขนิสัยและพฤติกรรมสุขภาพ’ มาใช้กับการเรียนการสอนในโรงเรียนในเขตจังหวัดขอนแก่น ภายใต้การวิจัยเรื่อง ‘การประยุกต์ใช้นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขนิสัยและพฤติกรรมสุขภาพสำหรับวัยเรียน จังหวัดขอนแก่น’ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
รศ.ดร.พรรณี อธิบายว่า นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขนิสัยฯ นี้ แยกเป็น 2 ประเด็นคือ ‘นวัตกรรม’ และ ‘สุขนิสัย’ โดยนวัตกรรมหมายถึงสื่อใหม่ที่นำมากระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดความต้องการสร้างสุขนิสัยในชีวิตประจำวัน ส่วน สุขนิสัย หมายถึงการออกแบบแผนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การสร้างสุขนิสัยฯ ถูกออกแบบผ่านการเรียนรู้ที่เรียกว่า ‘การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพสมอง’ (Brain Based Learning หรือ BBL) หลักการ BBL คือ แบ่งสมองออกเป็น 4 ส่วน ส่วนหน้าคือการทำการคิด ด้านข้างเน้นการพูดการฟัง ด้านบนเน้นเรื่องสัมผัส ส่วนด้านหลังเน้นการเห็น เมื่อการทำงานของสมองแบ่งออกเป็นเช่นนั้น จึงต้องมีการกระตุ้นสมองให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารร่างกาย ซึ่งเรียกว่า Brain Gym เช่น การออกกำลังแบบเอามือและขาไขว้กัน การยืดร่างกาย หรือการกระตุ้นร่างกายแบบง่ายๆ เช่น กำหรือแบมือ
ที่ผ่านมาในบางโรงเรียนได้นำหลักการของ BBL มาใช้บ้างแล้วในบางรายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ หรือภาษาไทย โดยปล่อยให้เด็กได้ฝึกคิดและสร้างจินตนาการในการเรียนด้วยตัวเอง ภายใต้การชี้แนะของครูอาจารย์ หรือการบริหารร่างกายก่อนการเรียนการสอน เพื่อให้สมองของเด็กถูกกระตุ้นอย่างเป็นระบบ
ในขณะที่ นวัตกรรมที่อาจารย์พรรณีกล่าวถึง นั่นคือ สื่อการ์ตูนในรูปแบบวีซีดีเรื่องสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ โดยเป็นวีซีดีแอนนิเมชั่นอย่างง่าย ที่เล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูนสีสันสดใส เข้าใจง่าย ใช้ภาษากลางและภาษาไทยอีสาน ที่สอดแทรกมุขตลก
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น อาจารย์พรรณี ได้นำ BBL มาบวกรวมกับ สื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น เพื่อสร้างเสริมสุขนิสัย ผลจากการทดลองใช้ทั้งสองนวัตกรรมทั้งสองนี้ พบว่า การผสมผสานทั้งสองนวัตกรรมเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องสุขนิสัยมากขึ้น
“การใช้เพียง BBL อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผลที่ดีพอ หรือการใช้สื่อการ์ตูนอย่างเดียวก็คงน้อยไปเพราะเด็กไม่ถูกกระตุ้นให้จดจำ ดังนั้นการทำสื่ออย่างการ์ตูนขึ้นมา เป็นการสร้างปัจจัยเอื้อให้กับเด็ก ส่วน BBL ก็กิจกรรมหนึ่งที่เขาต้องไปจัดทำเพื่อฝึกการเรียนรู้ ถ้ามีแต่ BBL จะไม่เกิดการกระตุ้น เพราะบางทีเด็กอาจจะไม่ได้สนใจ BBL หรือถ้าสื่ออย่างเดียวอาจจะไม่สนใจเพราะบางที่ทำแค่โปสเตอร์ เราก็ทำวีซีดีตามสุขบัญญัติ 10 ประการ” รศ.ดร.พรรณีกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้าน School health จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบาย การออกแบบสื่อการ์ตูนแอนิเมชั่นว่า มาจากความคิดพื้นฐานที่ว่าเด็กชอบการเคลื่อนไหว ไม่หยุดยิ่ง และมีสีสัน ดังนั้นการ์ตูนแอนิเมชั่น จึงเป็นคำตอบของนวัตกรรมที่ถูกเลือกมาเป็นสื่อ
เมื่อถามว่า คาดหวังอย่างไรต่อโครงการนี้ รศ.ดร.พรรณีกล่าวว่า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงปัจจัยเอื้อในโรงเรียน เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ เพิ่มอ่างล้างมือ ปรับปรุงสถานที่ในโรงเรียนให้ปลอดโปร่ง เหล่านี้เป็นเรื่องที่เล็ก แต่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ใหญ่ตามมาได้ ต่อจากนั้น ทักษะเหล่านี้น่าจะถูกนำไปปฏิบัติต่อที่บ้าน โดยเริ่มจากตัวเด็กเอง ไปจนถึงคนรอบข้าง เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีในบ้าน
แนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขนิสัยฯ นี้ ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริงแล้วในหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนบ้านแดงใหญ่ (ราษฎร์คุรุวิทยาคาร) อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดย นางปริยาภรณ์ บัวขาว อาจารย์จากโรงเรียนบ้านแดงใหญ่ ได้นำหลักการ BBL และสื่อการ์ตูนแอนิเมชั่นไปใช้กับการเรียนวิชาภาษาไทย โดยการทดลองบริหารเพื่อบริหารประสาท เช่น เพลงเงาะ ใช้ท่าบริหารกำและแบมือ เป็นการบริหารสมอง ทำสลับกันไปมาระหว่างกำกับแบมือ
“ได้ผลคือ เด็กชอบมากร้องให้เอาอีก อีกอย่างหนึ่งคือ เด็กได้ผลงาน เช่น สอนเรื่องอาหารหลัก 5 หมู่ โดยให้เด็กไปวาดภาพประกอบตั้งแต่หมู่ที่ 1-5 เป็นการฝึกระบบประสาทโดยไม่ต้องเขียน เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทันที เด็กหลายคนมาบอกว่า ได้แปรงฟันแล้วนะ ได้สระผม ดูแลตัวเองมาแล้ว เอาเล็บมือมาให้ดู” ครูปริยาภรณ์บอกเล่า
คุณครูคนเดิม มองว่า จุดแข็งของนวัตกรรมนี้อยู่ที่ สื่อวีซีดี เกี่ยวกับสุขบัญญัติ 10 ประการ เพราะกระตุ้นเด็กได้ดี แต่อาจจะมีปัญหาอยู่ที่ความไม่พร้อมของด้านเทคโนโลยี เช่น เครื่องเล่นวีซีดี เป็นต้น
เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านหนองหิน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่นำไปแนวคิดนี้ไปใช้ แล้วได้ผลน่าพอใจ มุลศรี แก้วมาตย์ คุณครูโรงเรียนบ้านหนองหิน เล่าว่า ได้นำทั้งแนวคิดเรื่อง BBL ไปใช้ในการสอน โดยใช้ในการเตรียมความพร้อมก่อนเรียน มีทั้งหมด 5 ขั้นตอนคือ การทำสมาธิ ต่อด้วยการร้องเพลง ต่อด้วยการแสดงท่าประกอบเพลง ‘ดอกไม้บาน’ ต่อด้วย ทำตามคำสั่ง เช่น สองตาดูสองหูฟัง สมองคิด มีสติ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 3 นาที
“ทำมาประมาณ 1 ปีแล้ว เด็กมีสมาธิในการเรียนดี สนใจเรียนมีชิ้นงาน ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้ดี กล้าแสดงอออก กล้านำเสนอผลงาน มีการพัฒนามากขึ้น เช่น รู้จักแปรงฟัน ก่อนกินอาหารล้างมือ ก่อนเข้าห้องเรียนล้างมือ ผมสั้น เล็บมือสะอาด จากเมื่อก่อนค่อนข้างสกปรก ไม่ค่อยอาบน้ำ”
สำหรับกรณีการแพร่ระบาดของหวัด 2009 ทางโรงเรียนหนองหินได้เข้มงวดในเรื่องสุขนิสัยเช่นกัน โดยมีการรณรงค์ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดตามจุดต่างๆ และการปลูกฝังการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือกับเด็ก
“เด็กก็เรียนรู้เรื่องกินร้อนช้อนกลาง ได้ดี ตอนนี้กินน้ำก็ใช้ขวด ไม่ใช้แก้ว แยกกันชัดเจน กินข้าวแล้วก็มีการเช็ดโต๊ะ ทำความสะอาดช่วยกัน ปรับภูมิทัศน์ให้สะอาด อากาศระบายได้ดี” คุณครูมุลศรีกล่าว
ในมุมมองของเด็กที่ผ่านการใช้นวัตกรรมเสริมสร้างสุขนิสัยอย่าง ปิยะธิดา นันท์ดี อายุ 10 ปี ชั้นป. 4 โรงเรียนบ้านแดงใหญ่ บอกเล่าว่า ได้กายบริหารตอนเข้าแถวหน้าเสาธง ทำประมาณ 10-20 นาที
“ชอบท่ายกแขนแยกออกจากตัว ไม่เหนื่อย สนุกดี ในชั้นเรียนก็เคยทำวิชาคณิตศาสตร์ ครูพาทำ ทำให้เรียนรู้เรื่องมากขึ้น แล้วเมื่อมาได้ดูการ์ตูนเรื่องสุขบัญญัติ 10 ประการ ทำให้เข้าใจการดูแลตัวเองมากขึ้นค่ะ”
ส่วน รุ่นพี่อย่าง ชลิตา ศรีกลชาญ นักเรียนชั้นม.1 โรงเรียนบ้านแดงใหญ่ รู้สึกว่า การ์ตูนแอนิเมชั่นทำให้เข้าใจการสร้างสุขนิสัยแบบง่ายๆ ได้ เช่น การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร จากที่ไม่เคยใส่ใจ หรือการดูแลร่างกายให้สะอาด จะป้องกันโรคระบาดได้
อีกไม่นาน แนวคิดเรื่องการใช้นวัตกรรมสร้างเสริมสุขนิสัย ด้วย BBL และการ์ตูนแอนิเมชั่น อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยย่นระยะเวลาในการเรียนการสอน หรือการปลูกฝังให้เด็กนักเรียนได้ตระหนักในการดูแลสุขนิสัยของตนเอง ดังที่หลายๆ โรงเรียนได้เริ่มนำแนวคิดนี้ไปใช้ และเห็นผลว่า สุขนิสัยไม่ใช่เรื่องไกลอย่างที่คิดไว้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0891203073 วนาลี จันทร์อร่าม โครงการประชาสัมพันธ์ สน.เปิดรับทั่วไป สสส.