กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ก.พลังงาน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้เร่งประสานไปยังนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสำรวจและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น จากกรณีเหตุการณ์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เร่งผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากทุกเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อรองรับเหตุสุดวิสัย กรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติ ทั้งในอ่าวไทยและในสหภาพพม่าไม่สามารถส่งก๊าซฯ เข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อรักษาระบบความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย
นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ที่แหล่งก๊าซฯ ทั้งในอ่าวไทยและสหภาพพม่าไม่สามารถส่งก๊าซฯ เข้าระบบผลิตไฟฟ้าในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ได้นั้น สามารถสรุปได้เป็น 3 เหตุการณ์คือ
เหตุการณ์แรก ก๊าซฯ จากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA แหล่ง A 18 มีการปิดเพื่อซ่อมบำรุงตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 9 — 19 สิงหาคม 2552 จึงทำให้ปริมาณก๊าซฯ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงจากปกติ และจะสามารถกลับเข้าสู่การผลิตปกติได้ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้
เหตุการณ์ที่สอง เหตุจากระบบท่อลำเลียงคอนเดนเสท ในแหล่งก๊าซฯ บงกช เกิดการรั่ว ซึ่งเป็นปัญหาด้านเทคนิค จึงทำให้ต้องหยุดระบบการผลิตก๊าซฯ ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย จึงทำให้ปริมาณก๊าซฯ หายไปจากระบบอีก 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบัน (วันจันทร์ที่ 17 ส.ค.) แหล่งก๊าซฯบงกชได้เดินเครื่องผลิตตามปกติแล้ว
ส่วนเหตุการณ์ที่สาม คือ แหล่งก๊าซธรรมชาติจากสหภาพ พม่า คือ แหล่งยาดานา เกิดปัญหาด้านเทคนิคเช่นกัน จึงต้องหยุดส่งก๊าซฯ ชั่วคราว ในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2552 ซึ่งปัจจุบัน ระบบได้ทำงานเป็นปกติแล้ว
นายทวารัฐ กล่าวต่อไปว่า ซึ่งเมื่อรวมจากทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯ ที่ประเทศไทยต้องใช้ปกติหายไปค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม จากการบริหารจัดการที่ทันต่อเวลา และการรักษาระบบความมั่นคงด้านพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน จึงทำให้เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่เกิดเหตุไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับแต่อย่างใด โดยกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการสั่งการให้ กฟผ. พิจารณานำโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมจ่ายผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโดยเร็ว รวมทั้งให้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าอื่นๆ รวมถึงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในทุกเขื่อนของ กฟผ. ตลอด 3 วันที่ ผ่านมา ก็ถือเป็นทางเลือก เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ
“ต้องยอมรับว่า ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุฉุกเฉินด้านความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยถึง 3 เหตุการณ์ซ้อน โดยกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง แต่ต้องยอมรับว่าจากกรณีการปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ถือเป็นเรื่องฉุกเฉินกระทันหัน ซึ่งกระทรวงพลังงานโดย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้มีการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจะร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในการสำรวจและประเมินผลกระทบและหาข้อสรุปโดยเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานต้องขอโทษชาวจังหวัดกาญจนบุรีในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อันเป็นการเสียสละของชาวจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อรักษาความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าของประเทศเอาไว้ และกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนท่าทุ่งนา ในจังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงเขื่อนอื่นๆ มีความมั่นคงแข็งแรงเป็นปกติไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” นายทวารัฐกล่าว