กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--พม.
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง โดยการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุรายเดือน ๆ ละ 500 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โดยมีผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนและรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (เม.ย. — ก.ย. 52) จำนวน 3,576,661 คน รวมกับผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ. 2541 และจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพจากรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2552 อีกจำนวน 2,386,428 คน ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2552 จึงมีผู้สูงอายุที่รับเงินเบี้ยยังชีพแล้วทั้งสิ้น 5,963,089 คน
นายอิสสระ สมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับปีงบประมาณ 2553 คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มีมติเห็นชอบให้เปิดรับลงทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรอบใหม่ ระหว่างวันที่ 17 — 31 สิงหาคม 2552
ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพจะต้อง มีคุณสมบัติ ดังนี้
1. มีสัญชาติไทย
2. อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2552
3. ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548
ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด ให้นำเอกสารหลักฐาน ประกอบด้วย
1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นซึ่งออกให้โดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายเจ้าของบัตรพร้อมสำเนา
2. ทะเบียนบ้านพร้อมสำเนา
3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พร้อมสำเนา (สำหรับผู้ที่ขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประสงค์จะขอรับเงินผ่านธนาคาร)
4. กรณีผู้มีคุณสมบัติไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ ก็สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอแทนได้
สถานที่ลงทะเบียน
1. ในส่วนภูมิภาค ติดต่อยื่นได้ที่ เทศบาล / อบต. ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
2. เขตกรุงเทพมหานคร ติดต่อยื่นได้ที่ สำนักงานเขต ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอฯ รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2552
นายอิสสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถิติทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครองมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพ ซึ่งเป็นผู้เกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2492 คือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 30 กันยายน 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,239,755 คน จึงส่งผลให้งบประมาณปี 2553 จะมีผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพรายใหม่ประมาณ 906,371 คน