กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--กทม.
กทม. แก้ไขข้อบัญญัติควบคุมตู้น้ำดื่มให้ผู้ประกอบการอยู่ภายใต้การควบคุม โดยเฉพาะการดูแลคุณภาพ ความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค หลังพบไม่มีการดูแลและบำรุงรักษา มีฝุ่น สนิม และการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ไม่มีระบบตัดไฟฟ้าเมื่อเกิดกระแสไฟรั่วหรือลัดวงจร และมีใบอนุญาตเพียง 62 ตู้ จาก 2,814 ตู้
นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ถึงการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ว่า จากการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 2,814 ตู้ จากผู้ผลิตกว่า 20 ราย แต่จากการตรวจสอบสุขลักษณะของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพบว่า ไม่มีการดูแลและบำรุงรักษา มีฝุ่นละอองภายนอกตู้น้ำและบริเวณห้องจ่ายน้ำ พบคราบสนิมในน้ำดื่มมีการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินอาหาร ส่วนตู้น้ำวางอยู่บนทางเท้าไม่มีระบบตัดไฟฟ้าเมื่อเกิดกระแสไฟรั่วหรือลัดวงจร กรุงเทพมหานครมีนโยบายคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนในการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จึงให้ทุกสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์แนะนำให้ผู้ประกอบการน้ำดื่มขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีตู้น้ำดื่มให้บริการทั้งสิ้น 2,814 ตู้ แต่มีใบอนุญาตเพียง 62 ตู้ และอยู่ระหว่างขออนุญาต 34 ตู้
สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จึงเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าธรรมเนียมสำหรับดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมของการประกอบกิจการการผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภคให้เหมาะสมกับการประกอบกิจการในปัจจุบัน โดย 1. ค่าธรรมเนียมของเครื่องผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภคโดยไม่ใช้เครื่องจักรเดิมค่าธรรมเนียมฉบับละ 1,000 บาท เสนอแก้ไขโดยไม่ใช้เครื่องจักรหรือใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมกันไม่เกิน 1 แรงม้า ฉบับละ 1,000 บาท 2. ค่าธรรมเนียมของเครื่องผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภคโดยใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมกันไม่เกิน 20 แรงม้า ฉบับละ 2,000 บาท เสนอแก้ไขโดยใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมกันเกิน 1 แรงม้า แต่ไม่เกิน 20 แรงม้า ฉบับละ 2,000 บาท 3. ส่วนค่าธรรมเนียมของเครื่องผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภคโดยใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมกันเกิน 20 แรงม้า คิดเพิ่มแรงม้าละ 1,000 บาท โดยให้คิดแรงม้าเป็นจำนวนเต็มปัดเศษทิ้ง แต่รวมแล้วไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งข้อนี้ไม่มีการแก้ไข
โดยข้อบัญญัติดังกล่าว มุ้งเน้นจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการน้ำดื่มหยอดเหรียญขึ้นทะเบียนขออนุญาตมากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการควบคุมด้านสุขลักษณะ และมีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างทั่วถึง และเป็นเครื่องมือในการใช้กฎหมายเข้าไปกำกับ ดูแล ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งเพื่อให้เจ้าของหรือผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มขอใบอนุญาตและเข้าสู่ระบบการตรวจสอบเพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน