กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--กบข.
กบข. มั่นใจการออมระยะยาว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพในยามเกษียณได้ดีที่สุด ย้ำหากคนทำงานทุกคนมีการออมผ่านระบบที่ดีจะช่วยสร้างระเบียบวินัยในการออม มั่นใจการออมระยะยาวจะเห็นผลที่ดีในอนาคต
นางสาววริยา ว่องปรีชา รองเลขาธิการสายบริหารงานสมาชิก รักษาการ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าปัจจุบันมีผู้ที่จัดเป็นกำลังแรงงานประมาณ 36.11 ล้านคน แต่มีเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 12 -13 ล้านคนเท่านั้นที่อยู่ในโครงข่ายการประกันรายได้จาก 3 แหล่งใหญ่ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ส่วนอีก 2 ใน 3 หรือประมาณ 24-25 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้มีการเก็บออมส่วนตัวหรือไม่มีนายจ้าง กฎหมาย หรือกฎหมายรองรับให้เกิดการออมในภาคบังคับ
การที่รัฐบาลมีดำริที่จะจัดรูปแบบการออมเพื่อชราภาพในรูปของกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ ( กอช.) จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งเพราะหากมีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการแล้วนับต่อจากนี้แรงงานนอกระบบจำนวน 24- 25 ล้านคน ที่ไม่ได้มีระบบการออมเพื่อการชราภาพ จะได้มีแหล่งเงินออมไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า เพราะการออมเพื่อใช้ในยามแก่เฒ่า หรือการออมเพื่อการเกษียณมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรนับวันจะยิ่งมีอายุที่ยืนยาวขึ้น โดยผู้ชายอายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 74-75ปี และผู้หญิงอยู่ที่ 79-80 ปี นั้นหมายความว่าเมื่อเราสิ้นสุดอายุการทำงานที่ 60 ปี ผู้ชายต้องใช้ชีวิตต่อไปอีก 15 ปีส่วนผู้หญิงก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปอีก 20 ปี ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการยังชีพทั้งสิ้น ส่วนใครที่อายุยืนกว่าค่าเฉลี่ยก็หมายความว่ายิ่งต้องใช้เงินมากขึ้น ดังนั้น ที่มาของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณไม่ว่าจะเป็น กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ ( กอช. ) ก็ตาม ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือให้คนทำงานทั้งหลายได้เก็บเงินในวันนี้เพื่อมีใช้ในยามเกษียณหรือช่วงที่ไม่มีงานทำ ซึ่งเงินส่วนนี้จะมีส่วนช่วยให้มีชีวิตที่พอเพียงในระดับหนึ่ง
นางสาววริยาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการออมนั้น ต้องเร่งสร้างให้เกิดพฤติกรรมการออมอย่างจริงจัง มีระเบียบวินัย มีความสม่ำเสมอ และควรมีการผลักดันให้เกิดทัศนคติเชิงบวกถึงประโยชน์ของการออมระยะยาว ผ่านการออมรูปแบบต่างๆ รวมถึงรูปแบบกองทุน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินที่จะสามารถช่วยบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6 member@gpf.or.th / www.gpf.or.th