กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--กบข.
กบข. ย้ำบทบาทสถาบันเงินออมเพื่อวัยเกษียณ สร้างความเข้มแข็งทางการเงินระยะยาว เตรียมรับอัตราการเติบโตต่อเนื่องของกลุ่มผู้สูงอายุในสังคมไทย
นางสาววริยา ว่องปรีชา รองเลขาธิการสายบริหารงานสมาชิก รักษาการ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนเรามีอายุยืนยาวมากขึ้นเป็นผลจากความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ จึงทำให้โครงสร้างสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป โดยอัตราผู้สูงอายุในสังคมไทยมีแนวโน้มขยายเพิ่มมากขึ้นทุกปี และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 7.3 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรวัยแรงงาน พบว่าคนทำงาน 6 คนดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในปี 2573 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 17.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั่วประเทศนั้น อัตราส่วนคนทำงานลดลงเหลือเพียง 2.5 คนที่จะดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ทั้งนี้ สังคมไทยจึงควรร่วมกันสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการออม เพื่อที่จะสามารถช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเงินไว้สำหรับเป็นหลักประกันในวัยเกษียณ
สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ถือเป็นกองทุนหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ในการเป็นแหล่งระดมเงินออมระยะยาว รวมทั้งสนับสนุนให้ข้าราชการกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศได้ออมเงินเพื่อไว้ใช้ในการยังชีพหลังเกษียณอายุ และมุ่งหวังให้เป็นกองทุนที่มีบทบาทสำคัญในการระดมเงินออมเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ
เฉกเช่นเดียวกันกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ ในประเทศ ทั้งในส่วนภาครัฐบาลและเอกชนที่ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเม็ดเงินในระบบ 8,870,000 ล้านบาท ผ่านระบบเงินออมของไทย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินฝากธนาคาร และกองทุนรวมต่างๆ ในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเสถียรภาพต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้
ทั้งนี้ สังคมไทยจึงควรร่วมกันสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการออม โดยเร่งสร้างทัศนคติในเชิงบวกให้เห็นถึงประโยชน์ของการออมเงินระยะยาว พร้อมกับกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการออมอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะออมเงินสำหรับบั้นปลายชีวิตผ่านระบบการออมรูปแบบต่างๆ รวมถึงรูปแบบกองทุน ซึ่งจะมีความเชี่ยงชาญด้านการเงิน สามารถช่วยบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ความมั่นคงในอนาคตต่อไป
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6 member@gpf.or.th / www.gpf.or.th