ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดการสัมมนา 2006 Economics and Financial Markets Overview

ข่าวทั่วไป Tuesday January 10, 2006 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--ธ.ไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “2006 Economics and Financial Markets Overview” สร้างมุมมองทางเศรษฐกิจรับศักราชใหม่ ให้ลูกค้าเพื่อให้สามารถเตรียมวางแผนกลยุทธ์ให้กับธุรกิจ พร้อมท้าทาย สิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นรับปี 2549
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารได้จัดสัมมนาขึ้นเพื่อเป็นการให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2549 รวมถึงทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น จากวิทยากรภายในของธนาคารเองที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ธุรกิจที่จะมาวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสร้างมุมมองด้านเศรษฐกิจ ให้สามารถนำไปวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์ของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
โดยมีผู้บริหารระดับสูงของของธนาคารเข้าร่วมบรรยาย ในเรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มอัตรา แลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในปี 2549 ได้แก่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลุกค้าธุรกิจ , ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน และนายอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า ผู้จัดการบริหารการเงิน นอกจากนี้ยังมี Dr. Wu Tao Research Director of Gallup China เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อ China Poll ซึ่งเป็นการ เผยแพร่ผลการวิจัยต่อเนื่องกว่า 10 ปีของ Gallup Organization เป็นครั้งแรกในเมืองไทยสำหรับลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลุกค้าธุรกิจ ได้กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจในปี 2549 นี้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น ปัญหา Twin Deficits ของอเมริกา การชะลอตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาและยุโรป และราคาน้ำมันที่อาจคงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนยังเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจ เอเชียขยายตัวต่อเนื่องได้ ส่วนเศรษฐกิจไทยคาดว่ายังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่จะยังต้องพึ่งตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ ส่วนแรงกดดันทางด้านภาวะเงินเฟ้อจะลดลง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยธนาคารจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ทางด้านดุลบัญชี เดินสะพัดยังคงมีแนวโน้มขาดดุล เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงตัวอยู่ในระดับสูง ปี 2549 จะเป็นปีที่ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันและมาตรฐานใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับ FTAs และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน และนายอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า ผู้จัดการสายบริหารการเงิน ได้กล่าวถึงอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในปี 2549 นี้ ว่า ในปี 2548 ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่น ๆ ทั่วโลก อันเป็นผลมาจากผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ย ตราสารหนี้ หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ ในตลาดสหรัฐที่สูงกว่าตลาดอื่น อีกทั้งกฎหมายลดหย่อนภาษีของสหรัฐ ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลเข้าไปในประเทศสหรัฐค่อนข้างสูงในปีที่ผ่านมา ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากการขาดดุลการค้าที่สูงของไทย ประกอบกับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐที่ค่อนข้างกว้าง
โดยภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคราวละ 0.5% สองครั้งติดต่อกันในช่วงไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยหากแบ่งกลุ่มอัตราแลกเปลี่ยนสกุลต่าง ๆ ตามความเสี่ยงโดยพิจารณาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะพบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มความเสี่ยงสูง อันได้แก่ EUR, GBP, AUD และ NZD และ กลุ่มความเสี่ยงต่ำ ยกตัวอย่างเช่น USD, JPY, HKD และ SGD เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีลักษณะเป็น Event Driven Market นั้น ควรจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากมีเหตุการณ์ที่เกินความคาดหมายเกิดขึ้นอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยในปี 2549 ได้คาดว่า ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักรวมถึงค่าเงินบาทขอไทย เนื่องจาก อัตราการเพิ่มชึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐชะลอตัวลง และการไหลออกของเงินทุนจะลดลงจากราคาน้ำมันที่น่าจะมีเสียรภาพมากขึ้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ในตลาดเงินจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้มาก โดยเฉพาะประเภทต่ำกว่า 3 เดือน กอปรกับสภาพคล่องในระบบธนาคารที่ลดลงต่อเนื่อง จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยธนาคารจะขยับสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งในด้านเงินฝากและสินเชื่อ สำหรับตลาดพันธบัตรนั้น คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น แต่จะปรับตัวสูงขึ้นไม่เกิน 1% ส่วนพันธบัตรระยะยาว มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยไม่เกิน 0.50% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนในปัจจุบัน โดยโอกาสที่ความผันผวนของอัตรา ผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางจะกลับมาสูงขึ้นมีค่อนข้างมาก
ทั้งนี้การสัมมนา “2006 Economics and Financial Markets Overview” ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์จัดขึ้นเป็นประจำนั้น นับเป็นการเสนอมุมมองความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน และเป็นข้อมูลที่สำคัญซึ่งลูกค้าสามารถนำไปเพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการกำหนดกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับปี 2549 ต่อไป
ด้วยความขอบคุณอย่างสูง : พจน์ ใจชาญสุขกิจ ผู้จัดการประชาสัมพันธ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พิเชษฐ์ , เขมลักษณ์ โทร. 02-544-4517,4503--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ