กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--สสวท.
“WAR OF SCIENCE” หรือ “วิทยสัประยุทธ์” คือ การประลองความรู้ ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เปิดตัวครั้งแรกในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พ.ศ.2552 ในวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ณ ชั้น 1 อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.)
บรรยากาศของการประลองคึกคักไปด้วยกองเชียร์จากโรงเรียนต่างๆที่มาร่วมลุ้น ร่วมเรียนรู้ถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และการหาคำตอบในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน ผู้เข้าแข่งขันคือ มีสองทีม คือ ทีมโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย น้องขจรวิทย์ รักหฤหัย และน้องศักดิธัช เสาวภา นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 พร้อมรุ่นพี่อย่าง“อาร์ม” พิพัฒน์ วิทยาปัญญานันท์ พิธีกรรายการ “ฉลาดล้ำโลก” เป็นหัวหน้าทีม ส่วนคู่แข่งขันคือ ทีมโรงเรียนสตรีวิทยา 2 น้องจุฑารัตน์ ฉันทโรจน์ และน้องภวิชญ์ จิรวิศัลย์ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 และรุ่นพี่อย่าง “ฟรอย” ณัฎฐพงษ์ ชาติพงษ์ นักแสดงจากละครเรื่อง “บ้านนี้มีรัก”นำทีม โดยมี แทนคุณ จิตต์อิสระ ดำเนินรายการ
งานนี้มี ผศ. พงษ์ ทรงพงษ์ และ ดร. สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ราม ติวารี นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ สสวท. ร่วมเป็น กรรมการตัดสินและให้ข้อเสนอแนะติชมแก่ผู้เข้าแข่งขัน ก่อนแข่งขันแต่ละทีมได้รับปัญหาก่อนวันสัประยุทธ์ 1 สัปดาห์ เพื่อคิดหาวิธีการ หลักการ ในการแก้ปัญหาและคำอธิบาย รวมทั้งไปเดินตลาดด้วยตัวเอง เพื่อหาซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้งาน หลังจากแต่ละทีมได้รับปัญหาและศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาแล้ว 3 วัน ทั้งสองทีม ได้มาทำการทดลองและเก็บข้อมูลตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งวางแผนและฝึกซ้อมการนำเสนอและการซักค้านในวันสัประยุทธ์ โจทย์วิทยาศาสตร์ของทั้งสองทีมคือ 1. ปล่อยไข่ที่ความสูง 2.5 เมตรให้หล่นถึงพื้น โดยไข่ไม่แตก 2. ทำให้ระฆังดัง 3.จุดเทียนพรรษา 4.ลูกโป่งต้องแตก โดยเหตุการณ์ทั้ง 4 ต้อง
มีระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 5 วินาที
น้องๆ ทั้งสองทีมต้อง นำโจทย์เหล่านี้มาร่วมกันคิด และออกแบบการทดลองโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ เพื่อสร้างให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ในวันแข่งขัน การสัประยุทธ์จะมี 2 ยก แต่ละยก ทีมหนึ่งจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายรับ และอีกทีมหนึ่งเป็นฝ่ายรุก ทั้งสองทีมจะต้องเสนอคำตอบจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ลองผิดลองถูก จนกระทั่งนำมาสู่การออกแบบการทดลอง และทฤษฎีที่นำมาใช้ พร้อมทั้งโต้แย้ง ซักค้านฝ่ายตรงข้ามด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจได้ โดยมีกรรมการเป็นผู้พิจารณาให้คะแนน ร่วมกับคะแนนจากผู้ชมอีกส่วนหนึ่ง
การแข่งขันครั้งนี้ น้องๆ ทั้งสองทีมได้ออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถตอบโจทย์ทั้ง 4 เหตุการณ์ได้ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนตั้งแต่มัธยมต้นจนถึงชั้นมัธยมปลายมาผนวกเข้ากัน บวกกับความคิดสร้างสรรค์ สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม โดยใช้วัสดุง่ายๆที่หาได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว แม้ว่าอาจมีเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่คาดคิด ทำให้ผลการทดลอง ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้แต่แรกบนเวทีการแข่งขัน จากตัวแปรอื่นที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม ผลการสัประยุทธ์ ปรากฏว่าทีมโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นผู้ชนะเลิศ โดยมีนายศุรพงศ์ พงศ์เดชขจร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์) เป็นผู้มอบถ้วยรางวัล น้องขจรวิทย์ รักหฤทัย ผู้ชนะจากทีมสวนกุหลาบวิทยาลัย บอกว่า วิทยสัประยุทธ์ครั้งนี้ ทำให้รู้สึกว่าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มีความท้าทาย ได้ออกแบบการทดลองเอง โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆที่เรียนมารวมกัน เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เปิดกว้าง การเรียนรู้ในรูปแบบนี้ทำให้เห็นจริงตามทฤษฏีที่เรียนมา และมองเห็นถึงข้อผิดพลาดที่ต้องแก้ไข ปัจจัยต่างๆ รวมถึงได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยครับ
ส่วนน้องจุฑารัตน์ ฉันทโรจน์ จากทีมสตรีวิทยา 2 บอกว่า รู้สึกสนุกกับการแข่งขัน และดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ ได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความรู้ที่เรียนจากห้องเรียนหลายๆส่วนมาประยุกต์ด้วยกัน สำหรับรูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบนี้ ทำให้เยาวชนให้ความสนใจมากขึ้น เพราะมีความสนุก ไม่เหมือนการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะได้ลงมือทำจริงด้วยค่ะ
ด้านอาจารย์ราม ติวารี นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ จากสถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน “วิทยสัประยุทธ์” เปิดเผยว่า กิจกรรมในรูปแบบนี้น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของการกระตุ้นเยาวชนให้สนใจวิทยาศาสตร์ ตลอดเวลา ที่ผ่านมา สสวท.ได้คิดค้น ผลิตสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ผ่านโครงการต่างๆ และนี่คือโครงการใหม่ของสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกระบวนการสัประยุทธ์ หรือการประลองท้าดวลความรู้“ก่อนหน้านี้ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปี 2551 สสวท.ได้จัดเวที “ฟิสิกส์สัประยุทธ์” ขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นได้มีนโยบายขยายไปสู่ระดับชาติ และนานาชาติ และปีนี้ได้เกิดโครงการ “วิทยสัประยุทธ์” ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการให้การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนได้ฝึกฝนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เต็มรูปแบบ พร้อมทั้งฝึกทำงานกึ่งวิจัยเป็นทีม และได้สื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคม” อาจารย์ราม กล่าวว่า สิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นจากกิจกรรม “วิทยสัประยุทธ์” คือ อยากให้สังคมเปลี่ยนความคิด แนวทางการปฏิบัติ ให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ เยาวชนชอบเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่ในอนาคตประเทศไทยจะสามารถผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น
เพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต