“รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น” กฟน.- ออมสิน - กรุงไทย กวาดรางวัลเพียบ ปตท. ไม่น้อยหน้าครองแชมป์ รสก.ยอดเยี่ยมแห่งปี 52

ข่าวทั่วไป Friday August 21, 2009 07:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สคร. กระทรวงการคลัง ประกาศผลรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นปี 52 ผลปตท.คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมแห่งปีพร้อมผู้นำองค์กรดีเด่น ส่วนกฟน.ยึดรางวัลเพียบ 5 รางวัล ออมสิน กรุงไทย ไม่น้อยหน้ากวาดมา 3 รางวัล เพิ่มความภาคภูมิใจ ยกระดับมาตรฐานรัฐวิสาหกิจไทยเทียบเคียงสากล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2552 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด ชั้น 22 กระทรวงการคลัง โดย สคร. ได้จัดงานมอบรางวัลให้แก่รัฐวิสาหกิจ ที่มีผลงานดีเด่น เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์กร โดยรางวัลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจไทย ที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านผลการดำเนินงาน การสนองบทบาทตามพันธกิจของรัฐวิสาหกิจ และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญจะช่วยผลักดันให้รัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีโอกาสที่จะได้รับรางวัลเช่นเดียวกันในอนาคต นายอารีพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลัง โดยสคร. ได้ดำเนินการจัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2552 นับเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งปีนี้กระทรวงการคลัง ได้กำหนดรูปแบบงานที่เน้นบทบาทความสำคัญของทุกส่วนงานที่หลอมรวมกันเป็นองค์ประกอบสำคัญของแต่ละรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่จุดหมายแห่งความสำเร็จ ผ่านเส้นทางที่ยากลำบากและมีความผันแปรเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องอาศัยพลังความร่วมมือร่วมใจของทุกคน โดยการร่วมมือกันและใช้ทรัพยากรร่วมกันในการก้าวผ่านอุปสรรค การจัดงานในปีนี้จึงมีรูปแบบภายใต้แนวคิดว่า “ “รัฐวิสาหกิจ” ขับเคลื่อนนาวาไทย มุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ” ส่วนการคัดเลือกรัฐวิสาหกิจเพื่อรับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านต่างๆนั้น กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย 1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ 2) ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ 3) รองปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ 4) ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการ 5) ผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้าน กรรมการ 6) ผอ.สำนักกำกับและประเมินผลรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศเกียรติคุณและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่รัฐวิสาหกิจ สร้างบรรทัดฐานที่ดีในการพัฒนารัฐวิสาหกิจและเป็นเครื่องมือของรัฐในการผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ สำหรับเกณฑ์การตัดสินรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2552 ประกอบด้วยการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในรอบปีที่ผ่านมา การจัดทำรายงานการประกอบพิจารณารางวัล การตรวจเยี่ยมองค์กรหรือการพบปะผู้บริหาร (Site Visit) เหตุการณ์ (Incident) สำคัญที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับรัฐวิสาหกิจ และการดำเนินการที่สำคัญโดยเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง (Benchmark) เป็นต้น ซึ่งทำให้ขั้นตอนการพิจารณามอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นมีความเข้มข้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับผลการประกาศรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น มีจำนวน 8 ประเภท รวมทั้งสิ้น 22 รางวัล ประกอบด้วยประเภทรางวัลดังนี้ รางวัลที่ 1 รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมแห่งปี 2552 (จำนวน 1 รางวัล) มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความโดดเด่นในทุกๆ ด้าน สามารถดำเนินภารกิจ และตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เป็นอย่างดี ได้แก่ - บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รางวัลที่ 2 รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น (จำนวน 3 รางวัล) มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้แก่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้ถือหุ้นภาครัฐ ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และส่งเสริมการบริหารงานของฝ่ายจัดการให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้แก่ ดีเด่น - การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) - การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) - ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รางวัลที่ 3 รางวัลการจัดการองค์กรดีเด่น (จำนวน 4 รางวัล) มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีระบบการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น ที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจมีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐวิสาหกิจ และมีการเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ ดีเด่น - การประปานครหลวง(กปน.) - ธนาคารออมสิน เกียรติยศ - การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) - บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด(บวท.) รางวัลที่ 4 รางวัลพัฒนาปรับสถานภาพองค์กรดีเด่น (จำนวน 1 รางวัล) มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนา และปรับสถานะขององค์กรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริหารด้านสถานะทางการเงิน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อพันธกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ - องค์การเภสัชกรรม(อภ.) รางวัลที่ 5 รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น (จำนวน 2 รางวัล) มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่สามารถนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน โดยมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และสามารถผลักดันองค์กรให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คัดเลือกจาก ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อในประเภทรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นและรางวัลพัฒนาปรับสถานภาพองค์กรดีเด่น ได้แก่ ดีเด่น - การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) - บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รางวัลที่ 6 รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น (จำนวน 5 รางวัล) มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีการส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดเป็นนโยบายชัดเจนขององค์กร มีแผนการดำเนินงาน การมีกระบวนการมีส่วนร่วมและการสร้าง ได้แก่ ดีเด่น - การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) - การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) - ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) - ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) - ธนาคารออมสิน รางวัลที่ 7 รางวัลบริการดีเด่น (จำนวน 2 รางวัล) มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้รัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นการให้บริการลูกค้า สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวัง มีการพัฒนากระบวนการให้บริการอย่างต่อเนื่อง การคำนึงถึงความพึงพอใจและไม่พึงพอใจของลูกค้าและผู้รับบริการอย่างความ ได้แก่ ดีเด่น - ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) - ธนาคารออมสิน รางวัลที่ 8 รางวัลนวัตกรรมดีเด่น (จำนวน 4 รางวัล) มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้รัฐวิสาหกิจที่ผลักดันและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ และการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการทำงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานการลดต้นทุน ส่งผลให้มีผลการประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ดีเด่น - บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) - บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด(บวท.) ชมเชย - การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) - การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) นายอารีพงศ์ กล่าวว่า สำหรับรางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมแห่งปี 2552 ถือเป็นรางวัลสูงสุดและมีเพียง1 รางวัลเท่านั้น และการที่ทางบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ได้รับรางวัลนี้ เนื่องจาก ปตท. เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศครอบคลุมทุกด้านที่รวมกันเป็นองค์ประกอบของความสำเร็จขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการผู้บริหารและระบบการบริการจัดองค์กรที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงการดำเนินการที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้เป็นอย่างดี “ขอแสดงความยินดีแก่รัฐวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น และขอชื่นชมผู้บริหารและพนักงานที่ร่วมมือ ร่วมใจกัน พัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และมีระบบมาตรฐานที่ดี จนได้รับรางวัล สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ก็อยากขอให้กำลังใจเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลในปีนี้ก็อยากให้พัฒนาองค์กรให้ดียิ่งๆ ขึ้น โดย สคร. จะยังคงดำเนินการจัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ และเพื่อเป้าหมายในการส่งเสริม สนับสนุนรัฐวิสาหกิจให้เกิดประสิทธิภาพ และกลายเป็นเครื่องมือของรัฐที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศต่อไป” นายอารีพงศ์กล่าว ส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02-298-5880-9 ต่อ 6722

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ