อย. แจง กรณีข่าวกล่าวหาไม่ให้ความสำคัญยาไม่ปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Friday August 21, 2009 09:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--อย. กรณีข่าวกล่าวหา อย. ไม่ให้ความสำคัญกับการทำลายยาที่ไม่ปลอดภัย ยาหมดอายุ อย. โต้อย่าได้วิตก เพราะการทำลายยาเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ผลิตและผู้นำเข้าที่ต้องเก็บคืนไปทำลาย หากไม่ ถือได้ว่าบริษัทนั้นขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สำคัญ อย. มีมาตรการการตรวจสอบดูแลอยู่แล้ว หากพบมียาที่ไม่ปลอดภัยของบริษัทใดมาจำหน่ายจะดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทนั้นอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม หากมียาไม่ปลอดภัยจำนวนมาก อย. ก็พร้อมเข้าดำเนินการเผาทำลายให้ ส่วนกรณีกล่าวอ้างว่า อย. ไม่เข้มงวดกับร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำอยู่ทุกร้าน ถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะ อย. ดำเนินการ เรื่องนี้มาโดยตลอด หากพบการฝ่าฝืนเภสัชกรจะถูกดำเนินคดีทุกรายและอาจถูกพักใช้ใบประกอบโรคศิลปะอย่างน้อย 3 เดือน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แจงกรณีข่าวทางหนังสือพิมพ์ที่อ้างว่า อย. ไม่ให้ความสำคัญกับการทำลายยาที่ไม่ปลอดภัย ยาหมดอายุ ว่า ในเรื่องนี้ไม่น่าจะต้องวิตกกังวล เพราะ อย. ได้มีมาตรการในการตรวจสอบดูแลอยู่แล้ว ซึ่งยาที่ใกล้หมดอายุทางร้านขายยาต้องส่งคืนให้แก่บริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า โดยถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ผลิตและผู้นำเข้าในการเรียกคืนสินค้าและ การทำลายดังกล่าว หากไม่เป็นเช่นนั้นก็ถือว่าบริษัทดังกล่าวขาดความรับผิดชอบต่อสังคม แต่อย่างไรก็ตาม หากพบว่ายาที่ไม่ปลอดภัยและยาหมดอายุมีจำนวนมากจนทางบริษัทไม่สามารถทำลายได้ ทาง อย. ก็พร้อมที่จะเข้ามาดำเนินการให้ เพราะ อย.มีประสบการณ์และมีความพร้อมในด้านการเผาทำลายอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา อย. ได้มีการเผาทำลายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้คุณภาพ เช่น อาหารที่ปนเปื้อนเมลามีน หรือเผาทำลายยาเสพติดเป็นประจำทุกปี ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติกอินซิเนอะเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ซึ่งเป็นการเผาที่อุณหภูมิสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอน ในระยะเวลาอันรวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการ ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนกรณีกล่าวอ้างว่า อย. ไม่เข้มงวดร้านขายยาไม่มีเภสัชกรประจำอยู่ ทุกร้านนั้น อย. ขอยืนยันว่าที่ผ่านมามีการเข้มงวดตรวจสอบร้านขายยาอยู่เสมอ หากพบว่าร้านขายยาร้านใดไม่มีเภสัชกรประจำร้านในเวลาที่แจ้งทำการ อย. จะมีการดำเนินการกับผู้กระทำการฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด โดยดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับและส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาจรรยาบรรณ โดยสภาเภสัชกรรมจะมีการพักใช้ใบประกอบโรคศิลปะอย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้ ขอย้ำว่า อย. มีการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ

แท็ก อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ