กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
เดินหน้าอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่มีความสำคัญ และหายากในพื้นที่กทม. ดำเนินการระยะแรกกว่า 90 ชนิด มุ่งรักษาพันธุ์พืชเก่าแก่และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่ให้สูญพันธุ์
นางเพียงใจ วิศรุตรัตน รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2552 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์พันธุ์พืชที่มีความสำคัญ หายาก ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณสมบัติเฉพาะที่น่าสนใจ ให้อยู่คู่ กทม. รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพันธุ์พืชสำคัญต่างๆ ซึ่งพรรณไม้ที่จะดำเนินการอนุรักษ์พันธุกรรมของกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมตามชนิดพืช จำนวน 43 ชนิด อาทิ ต้นละมุดสีมา ต้นสะตือ ต้นพระเจ้าห้าพระองค์ ต้นกะหนาย ต้นกระเชา ต้นกฤษฎาน้อย ต้นย่านดาโอ๊ะ ต้นปาล์มเจ้าเมืองถลาง ต้นพลับพลึงธาร ต้นเหยื่อกุรัม ประเภทที่ 2 พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมเฉพาะต้นนั้นๆ จำนวน 48 ชนิด ประกอบด้วย พืชที่มีขนาดใหญ่ เช่น ต้นกร่าง ต้นมะขาม ต้นลำพู พืชทั่วไปเนื่องจากเป็นพันธุ์เก่าแก่ เช่น ต้นชมพู่น้ำดอกไม้ พืชที่มีประวัติน่าสนใจ เช่น ปลูกโดยบุคคลสำคัญ อาทิ ต้นมะม่วงน้ำดอกไม้ ทรงปลูกโดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นราชพฤกษ์ ปลูกโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ ปลูกโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นต้นไม้เก่าแก่อยู่คู่กับพื้นที่นั้นๆ เช่น ต้นมะขามที่ท้องสนามหลวง ต้นขนุนริมคลองคูเมือง ต้นหางนกยูงฝรั่งริมคลองผดุงกรุงเกษม ต้นตาล ต้นมะหาด ต้นมะเกลือ ต้นยางนา ต้นลาน และต้นสำโรงที่สวนลุมพินี และกรณีอื่นๆ ที่เป็นการให้ความสำคัญหรือคุณค่ากับต้นไม้นั้น ได้แก่ เป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ เช่น กุ่มบก เกด มะตูม สาละ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เช่น ต้นจำปาขาวที่ขยายพันธุ์จากต้นแม่ที่ จ.พิษณุโลก ต้นขนุนไพศาลทักษิณปลูกในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 5 รอบ และผู้ทรงคุณวุฒิแนะนำว่าหายากในธรรมชาติ เช่น ต้นกำลังเลือดม้า ต้นคำมอกหลวง ช้างร้องไห้ ปาล์มเจ้าเมืองตรัง ฯลฯ