กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--พีอาร์ โฟกัส
หลายคนอาจเคยมีอาการปวดหลัง ปวดตามข้อตามร่างกาย ทำให้กังวลใจว่าจะมีความผิดปกติหรือเกิดโรคร้ายแรงกับตนเองหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกังวลสงสัยที่เกิดขึ้นกับคนสังคมเป็นจำนวนไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ร่วมกับบริษัท เฮลธ์ อิมแพค จำกัด จัดบรรยายเชิงวิชาการเรื่อง “ปวดหลัง ปวดข้อ ในผู้สูงอายุ” โดยมี ผศ.นพ.ยงศักดิ์ หวังรุ่งทรัพย์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรพิเศษ ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจ ที่บริเวณห้องประชุมใหญ่ ชั้น 18 อาคาร ภปร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ผศ.นพ.ยงศักดิ์ ได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอาการปวดหลัง ปวดข้อ อย่างน่าสนใจว่า “จากผลวิจัยทางการแพทย์พบว่า อาการปวดหลังหรือปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆของร่างกาย ไม่ได้จำกัดอยู่ในเพียงกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น หากแต่ เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน หรือนักกีฬา โดยมีอัตราการเกิดกับประชากรสูงถึงกว่าร้อยละ 80 เลยทีเดียว ซึ่งผลกระทบที่จากอาการเจ็บป่วยนี้ ก็คือ การลาพักงาน เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยเป็นจำนวนมากๆ ก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวตาม ไปด้วย
อาการปวดหลังปวดข้อนี้ ถ้าเป็นไม่มากนัก ก็สามารถบรรเทาลงได้เอง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องใช้ยารักษา เนื่องจากมีอาการปวดรุนแรงและเรื้อรัง สำหรับอวัยวะภายในร่างกายที่เป็นเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลัง และข้อต่อต่างๆ ก็คือ กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการปวดกระดูกสันหลังมากที่สุด เส้นประสาท อวัยวะภายในช่องท้อง และภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียดก็เป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเมื่อเกิดความกังวลในจิตใจถึงอาการเจ็บปวดของตนเอง กลัวว่าตนจะเป็นโรคร้าย ภาวะเครียดทางจิตใจเช่นนี้จะส่งผลให้ร่างกายตอบสนองแสดงความเจ็บปวดออกมามากขึ้น นอกจากนี้กิจวัตรประจำวันที่ไม่ถูกสุขลักษณะและอุบัติเหตุก็อาจส่งผลให้เกิดอาการปวด ยอก ของกล้ามเนื้อและกระดูกได้ เช่น การยกของหนัก การตกจาก ที่สูง หรือการนั่งที่ไม่ถูกวิธี เมื่อกระทำติดต่อกันไปก็เป็นการสะสมให้กระดูกเกิดการผิดปกติได้
การรักษาอาการปวดหลังและข้อนั้นมีหลายวิธีทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะต้องตรวจสอบประวัติในการดำรงชีวิตของผู้ป่วยเพื่อหาความเป็นไปได้ของสาเหตุการปวดเหล่านั้น และอาจมีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์อื่นเพิ่มเติมในการหาสาเหตุ เช่น การทำ MRI หรือการฉีดสีเข้ากระดูกสันหลัง แต่ไม่จำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยทุกกรณี จะต้องทำเมื่อไม่สามารถหาสาเหตุได้หรือผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติที่รุนแรงกว่าอาการปวดหลังหรือข้อธรรมดา เช่น ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหรือ หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เนื่องจากการวิเคราะห์เบื้องต้นก็สามารถหาสาเหตุได้อย่างแม่นยำแล้ว นอกจากนี้การแพทย์ทางเลือกก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทุเลาความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้ เช่น การฝังเข็ม การนวดประคบสมุนไพร แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาผลการรักษาว่าจะทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ป่วยเอง เพราะหากเกิดความสบายใจในการรักษา ความเครียด ก็จะลดลง ร่างกายก็จะไม่เกิดความเจ็บปวดที่รุนแรง ดังที่กล่าวมาถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากภาวะทางจิตใจ
นอกจากนี้ การป้องกันตนเองไม่ให้เกิดอาการเจ็บปวดกระดูกและข้อ เป็นสิ่งที่ควรตะหนักของคนทุกวัย เช่นหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการกดทับ การยกของหนัก การนอนในท่าที่ถูกต้อง รวมไปถึงการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนเป็นต้น หากแต่ในชีวิตคนปัจจุบันที่มีแต่ความเร่งรีบ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงกระดูกและข้อก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะช่วยให้อาการเจ็บปวดไม่มากล้ำกราย นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จะกระตุ้นให้อวัยวะทุกส่วนทำงาน ทำไห้ไม่เกิดการเสื่อมของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งแพทย์แนะนำว่าผู้ป่วยที่เจ็บปวดกระดูก หากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้หายเป็นปกติเร็วกว่าผู้ป่วยที่นอนพักอยู่เฉยๆ สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาอาการปวดหลัง ปวดข้อ และท่าบริหารข้อให้แข็งแรง สามารถขอรับหนังสือฟรีได้ที่โทรศัพท์ 0-2860-4561-3 ทุกวันในวันเวลาทำการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บริษัท พีอาร์ โฟกัส จำกัด
โทรศัพท์ 02-6547-551-2 โทรสาร 02-6547553 / prfocus@truemail.co.th / www.prfocus.co.th
พิมพ์นิดา ไกรศุทธิกานต์ โทรศัพท์ 02-654-7551-2