สคบ.จับมือ สพฐ.สร้างพลังเยาวชนของชาติเป็นผู้บริโภคที่เข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Monday August 24, 2009 12:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--พี อาร์ เน็ตเวิร์ค เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๓๐ น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประธานแถลงข่าว “โครงการเยาวชนยุคใหม่ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค” และได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในสถานศึกษา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (นายนิโรธ เจริญประกอบ) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ ห้องประชุม ๒๐๓ อาคารหอประชุม กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ ด้วยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการเยาวชนยุคใหม่ ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อให้เยาวชนของชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมพลังผู้บริโภค รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในระดับเยาวชน เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในโรงเรียนและชุมชน เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในธุรกิจขายตรงได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเป็นผู้บริโภค มีค่านิยม และพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันจะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานการรวมตัวกัน ของผู้บริโภคเพื่อจัดตั้งองค์กรที่มีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคในอนาคต จึงได้จัดให้มีการแถลงข่าวขึ้นในวันนี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน ในการนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้กล่าวว่า “เป็นที่น่ายินดีที่ท่านรัฐมนตรีสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ซึ่งกำกับดูแลงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการศึกษาในเรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของชาติ โดยมุ่งหวังที่จะส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจในสิทธิของผู้บริโภค มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม รวมถึงการมีพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องเหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปี โดยสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานเรื่องค่าเล่าเรียน ตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียนและกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไประดับหนึ่งแล้ว ต่อไปจะเน้นในมิติของคุณภาพโดยให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรม 3D ได้แก่การส่งเสริมประชาธิปไตย (Democracy) คุณธรรม และความเป็นไทย (Decency) และการมีภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด (Drug-free) จากนโยบายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการเยาวชนยุคใหม่ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค มีความสอดคล้องเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะส่งเสริมให้เยาวชนแสดงศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค แล้วยังสามารถสะท้อนกระบวนการทางประชาธิปไตย ที่จะส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม อันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ปลอดภัยจากสิ่งอันตรายต่างๆไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด สินค้าหรือบริการที่เป็นอันตราย หรือไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้หรือผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้กล่าวว่า “รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จึงได้บรรจุเนื้อหาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พุทธศักราช๒๕๔๔ และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ บูรณาการ เรื่อง การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนในระดับช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓) และระดับช่วงชั้นที่ ๔ (ม.๔-ม.๖) เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ เรื่อง การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในสถานศึกษาเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในสถานศึกษาขึ้น เป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดความรู้ เรื่อง การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากสถานศึกษาสู่ชุมชน และเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพในโอกาสต่อไป” นอกจากนี้ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ได้เปิดเผยว่า “ปัจจุบันปัญหาพฤติกรรมการบริโภคของเยาวชนไทยเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานจะต้องให้ความสนใจ เนื่องจากเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจพยายามจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนี้ด้วยวิธีการต่างๆ โดยอาศัยช่องว่างจากสภาพสังคมที่มีการแข่งขันสูงทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการบริโภค ทั้งสินค้าและบริการตลอดจนสื่อโฆษณาต่างๆที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขาดคุณธรรม จริยธรรม แสวงหาประโยชน์จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเยาวชน เช่น การโฆษณาส่งเสริมการขายสินค้าบางชนิดที่โฆษณามุ่งเน้นในด้านการมีความสามารถพิเศษของสินค้า โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นในการใช้งาน หรือการส่งเสริมให้เยาวชนมีพฤติกรรมเลียนแบบ โดยการนำนักร้องหรือนักแสดงที่เป็นเยาวชนมีค่านิยมในการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องร่วมกันสร้างค่านิยมในพฤติกรรมการบริโภคให้ถูกต้องเหมาะสมให้แก่เยาวชนไทย ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติ และด้วยพลังของเยาวชนจะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างกระแสการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ทั้งในระดับเยาวชนด้วยกันเอง และระดับชาติในที่สุด” อนึ่ง นายนิโรธ เจริญประกอบ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดโครงการเยาวชนยุคใหม่ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยคาดว่าจะมีสถานศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ จำนวน ๑,๒๐๐ แห่ง นักเรียนที่เป็นสมาชิกชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเช้าร่วมโครงการ จำนวน ๔,๘๐๐ คน ครูที่ปรึกษาชมรมคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน ๑,๒๐๐ คน สำหรับโครงการดังกล่าว แบ่งการประกวดออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ประเภททีม และประเภทบุคคล โดยประเภททีม แบ่งออกเป็น ๓ กิจกรรม กล่าวคือ (๑) การคัดเลือกกิจกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (๒) การคัดเลือกกิจกรรมการเรียนรู้ (๓) การคัดเลือกการนำเสนอแนวคิด “Consumer’s Life 2009” ในส่วนของประเภทบุคคล แบ่งออกเป็น ๒ กิจกรรม กล่าวคือ (๑) การประกวดภาพเขียนภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจที่วิกฤติ ควรรักษาสิทธิของเราอย่างไร” (๒) การประกวดคำขวัญเพื่อรณรงค์การรักษาสิทธิผู้บริโภค ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในกิจกรรมประเภททีม จะได้ร่วมไปกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ในสถานศึกษา ณ ประเทศสิงคโปร์การมอบรางวัล แบ่งออกเป็น ประเภททีม มี ๓ รางวัลได้แก่ (๑.) รางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่เกียรติยศ จากประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมทุนการศึกษา ๓๐,๐๐๐ บาท (๒.) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ได้รับโล่เกียรติยศ จากเลขาธิการ สคบ. และเลขาธิการ สพฐ. พร้อมทุนการศึกษา ๒๐,๐๐๐ บาท และ (๓.) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ได้รับโล่เกียรติยศ จากเลขาธิการ สคบ. และเลขาธิการ สพฐ. ส่วนประเภทบุคคล แบ่งออกเป็น ๒ กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ ๑ การประกวดภาพวาด (ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย) รางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนการศึกษา ทุนละ ๕,๐๐๐ บาท จำนวน ๒ รางวัล รวม ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร จากเลขาธิการ สคบ. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ได้รับทุนการศึกษา ทุนละ ๓,๐๐๐ บาท จำนวน ๒ รางวัล รวม ๖,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร จาก สคบ. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ได้รับทุนการศึกษา ทุนละ ๒,๐๐๐ บาท จำนวน ๒ รางวัล รวม ๔,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร จากเลขาธิการ สคบ. และ ๔ รางวัลชมเชยได้รับทุนการศึกษา ทุนละ ๑,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร จากเลขาธิการ สคบ. จำนวน ๓๔ รางวัล รวม ๓๔,๐๐๐ บาท และกิจกรรมที่ ๒ การประกวดคำขวัญ (ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย) รางวัลชนะเลิศ ประกอบด้วย ทุนการศึกษา ทุนละ ๓,๐๐๐ บาท จำนวน ๒ รางวัล รวม ๖,๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร จากเลขาธิการ สคบ. รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ ประกอบด้วย ทุนการศึกษา ทุนละ ๒,๐๐๐ บาท จำนวน ๒ รางวัล รวม ๔,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร จากเลขาธิการ สคบ. และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ประกอบด้วย ทุนการศึกษา ๑,๕๐๐ บาท จำนวน ๒ รางวัล รวม ๓,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร จากเลขาธิการ สคบ. การพิจารณาคัดเลือกผลงานทั้งสองประเภทจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๔ สิงหาคม-๑๕ กันยายนนี้” ทั้งนี้ สคบ. จะดำเนินการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมให้กับโรงเรียนทั่วประเทศที่ประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวต่อไป” หลังจากจบการแถลงข่าว ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในสถานศึกษา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีสาระสำคัญของความร่วมมือดังนี้ ๑. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะพัฒนาความรู้และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความถูกต้อง ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน และเหมาะสมต่อการปฏิบัติจริง รวมทั้งส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานำไปใช้จัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ๒. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมการรณรงค์การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในสถานศึกษาสู่ชุมชน โดยจัดสรรงบประมาณผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๓. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเข้าร่วมพัฒนา ความรู้ในโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดขึ้น ๔. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเป็นหน่วยงานกลางประสานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาเพื่อจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดทำขึ้น ๕. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกันดำเนินการนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผลโครงการ รวมทั้งสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นหน่วยงานเฝ้าระวัง ติดตาม สอดส่อง และแจ้งเบาะแสผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้รับความปลอดภัย เป็นธรรม จากการบริโภคสินค้าและบริการ ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ในการปลูกผัง สร้างจิตสำนึกให้เยาวชนของชาติทั้งในมิติของการเป็นผู้บริโภคที่ดี รู้จักรักษาสิทธิ และในมิติของการเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณธรรมต่อไปอนาคต และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนและการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยให้มีประสิทธิภาพสู่มาตรฐานสากลต่อไป กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โทร ๐๒-๑๔๑๓๔๖๙-๗๔ โทรสาร ๐๒-๑๔๓๙๗๗๒-๓

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ