กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ก.ไอซีที
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการระบบเตือนภัย ภายใต้คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) เปิดเผยว่า การฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันประจำปี 2552 ในวันนี้ (21 สิงหาคม 2552) ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดขึ้นพร้อมกันใน 6 พื้นที่ คือ บ้านบางเบน จังหวัดระนอง บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา บ้านแหลมโพธิ์ จังหวัดกระบี่ หาดปากเมง จังหวัดตรัง บ้านปากบารา จังหวัดสตูล และมีศูนย์อำนวยการอยู่ที่ หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งรูปแบบการฝึกซ้อมนั้นเป็นการซ้อมลักษณะเหมือนจริง โดยสมมติให้มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์บริเวณหมู่เกาะอันดามัน และก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่ส่งผลกระทบถึง 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย
“เราสมมติให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ขึ้นในเวลาประมาณ 10.20 น. จากนั้นจึงเป็นการจำลองสถานการณ์ทั้งด้านการประสานงาน การปฏิบัติการสื่อสาร รับแจ้งเหตุ การแจ้งข่าว การรายงาน และการแจ้งเตือนภัย โดยการจำลองการปฏิบัติการจะเริ่มจากเวลา 10.35 น. เมื่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้รับข้อมูลแจ้งข่าวการเกิดแผ่นดินไหว และทำการส่ง SMS ครั้งที่ 1 แจ้งข่าวแก่ผู้บังคับบัญชา ผู้บริหารศูนย์เตือนภัยฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 6 จังหวัด รวมทั้งโทรศัพท์แจ้งข่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ปลัดกระทรวง ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยฯ จากนั้นประสานกองทัพเรือตรวจสอบระดับน้ำทะเล ประสานสถานีโทรทัศน์เพื่อเตรียมพร้อมออกอากาศ ประสานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และให้เจ้าหน้าที่เตรียมอุปกรณ์ระบบหอเตือนภัยพร้อมส่งสัญญาณ” นายสือ กล่าว
ขั้นตอนต่อมาเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปสถานการณ์ ทำแบบจำลองการเกิดสึนามิเพื่อหาเวลาที่คลื่นจะกระทบฝั่ง แล้วทำการส่ง SMS ครั้งที่ 2 ถึงผู้บังคับบัญชา ผู้รับผิดชอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางและพื้นที่เสี่ยงภัย จากนั้นจึงเป็นการจัดเตรียมอักษรวิ่งสำหรับสถานีโทรทัศน์ จัดเตรียมข้อมูลเพื่อจัดทำประกาศเตือนภัย จัดทำหนังสือขออนุมัติเปิดสัญญาณหอเตือนภัย และประสานกรมอุทกศาสตร์ ตรวจสอบระดับน้ำ ในเวลา 10.43 น.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที หรือปลัดกระทรวง หรือผู้ได้รับมอบหมายประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 1 ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ
และเวลา 10.45 น. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะทำการส่งสัญญาณเปิดเสียงเตือนภัย พร้อมกันทั้ง 79 หอในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันครั้งที่ 1 จากนั้นประชาชนในพื้นที่จะเริ่มปฏิบัติตามแผนอพยพหลบภัยฯ โดยศูนย์เตือนภัยฯ จะ ทำการเปิดเสียงเตือนภัยทั้งหมด 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 10 นาที เพื่อให้ประชาชน ชาวประมง และนักท่องเที่ยวได้อพยพหลบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย ในเวลา 11.02 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที หรือปลัดกระทรวง หรือผู้ได้รับมอบหมายทำการประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 2 เพื่อให้ข้อมูลการเกิดสึนามิเพิ่มเติม
จากนั้นสมมติสถานการณ์ให้เหตุการณ์ผ่านไป 2 ชั่วโมง ซึ่งศูนย์เตือนภัยฯ ตรวจสอบพบว่าคลื่นสึนามิลูกสุดท้ายได้เคลื่อนเข้ากระทบฝั่งที่จังหวัดสตูล และเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปลอดภัย จึงประกาศยกเลิกสถานการณ์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที หรือปลัดกระทรวง หรือผู้ได้รับมอบหมาย ออกประกาศแจ้งยกเลิกสถานการณ์การเกิดคลื่นสึนามิ พร้อมประกาศยุติการฝึกซ้อมผ่านเครือข่ายสถานีโทรทัศน์รวมทั้งวิทยุ และเวลา 11.24 น.หอเตือนภัยทำการเปิดสัญญาณยกเลิกการเตือนภัย สึนามิ
“การฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันประจำปี 2552 ครั้งนี้ กระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งหน่วยปฏิบัติและหน่วยสนับสนุนให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน และนักท่องเที่ยวให้สามารถอพยพหลบภัยไปสู่พื้นที่ปลอดภัยได้ทันเวลา พร้อมกันนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการเตือนภัย เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีความรู้ ความชำนาญในการปฏิบัติภารกิจ ตลอดจนช่วยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เกิดความมั่นใจในระบบการเตือนภัยของประเทศ และมีความปลอดภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ” นายสือ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-1416747 ทวิติยา สมัตถะ