ศูนย์คุณธรรมดึงเยาวชนร่วมทำวิจัย ขับเคลื่อนตลาดนัดคุณธรรมชุมชนเมือง

ข่าวทั่วไป Monday August 24, 2009 17:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--เกรียวกราวพลัส นางสาวนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม เปิดเผยว่า การจัดตลาดนัดคุณธรรมชุมชนเมืองที่ผ่านมา ศูนย์คุณธรรมได้ร่วมกับมูลนิธิกองทุนไทย จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทีสาธารณะให้แก่ทีมเยาวชนนักวิจัย จาก ชุมชนบางบัว ชุมชนคลองลัดภาชี และชุมชนสวนพลู ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครในโครงการวิจัยแนวคิดและกระบวนการสร้างคุณธรรมในชุมชนเมือง : กรณีศึกษาชุมชนในโครงการบ้านมั่นคง โดยเริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยชุมชนแบบมีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายได้แก่ สมาชิกในชุมชน เยาวชน แกนนำครอบครัว และชุมชนในเขตเมืองและกรุงเทพมหานคร 3 ชุมชน จำนวน 150 ครอบครัว โดยใช้องค์ความรู้แผนที่ความดี การชี้วัดชุมชนปลอดอบายมุข และการพัฒนาจิตอาสา เพื่อการพัฒนาคุณธรรมในด้านต่างๆ ภายในครอบครัวและชุมชน เช่น การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว หลักคิดในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ฯลฯ การวิจัยครั้งนี้เป็นความร่วมมือจาก 3 ฝ่ายได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ร่วมกันพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกับนักวิจัยจาก มูลนิธิกองทุนไทย ซึ่งทีมนักวิจัยและนักวิชาการจะนำผลวิจัยมาถอดองค์ความรู้ตัวบ่งชี้คุณธรรมของชุมชน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชน ตลอดจนใช้เป็นแบบอย่างในการเผยแพร่ขยายผลไปยังชุมชนอื่นต่อไป นายธรรมศักดิ์ มากนคร แกนนำชุมชนคลองลัดภาชี ภาษีเจริญ กล่าวว่า “ จากการวิจัยพบว่า ปัญหาหลักๆ ที่พบในหลายชุมชนคือ ปัญหายาเสพติด การพนัน และความขัดแย้งของคนในชุมชน จึงต้องอาศัยพลังความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน โดยเราได้คัดเลือกทีมเยาวชนนักวิจัยจากแกนนำเยาวชน ที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออกและเสียสละ มาร่วมกันสำรวจเก็บข้อมูลสภาพปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนเองร่วมกัน เช่น ในช่วงที่มีกระแสเกมออนไลน์ พอเริ่มมีร้านเกมเข้ามาในชุมชน พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไป เราก็จะมีการเรียกประชุมผู้ปกครองและแจ้งไปยังร้านเกม แต่เราก็ไม่สามารถห้ามการทำธุรกิจของเขาได้ เราจึงหันมารวมตัวกันสอดส่องดูแล บุตรหลานไม่ให้ไปเล่นในช่วงเวลาที่ไม่เหมะสม ถ้าคนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดีมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักสามัคคีกัน ก็เท่ากับเป็นภูมิคุ้มกันให้กับลูกหลานและคนในชุมชน ” นางสาวนิสา ภูเขียว อายุ 18 ปี ชั้น ปี 1 ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “กลุ่มนักวิจัยของชุมชนบางบัวมีด้วยกัน 11 คน เราดูแลพื้นที่ 229 ครัวเรือน เมื่อมีโครงการดีๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความช่วยเหลือพวกเรา เราในฐานะลูกหลานของชุมชนก็ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อชุมชนของเรา จากการทำวิจัยทำให้เราค้นพบทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของชุมชน คุณธรรมเด่นๆ ที่พบในชุมชนได้แก่ ความมีน้ำใจ และความสามัคคี ซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมและแพร่หลายในชุมชนมากยิ่งขึ้น ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ