กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--อพวช.
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : ทิศทางไทยกับทิศทางโลก” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมี ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Prof. Susan Stockimayer , Director of the National Centre for the Public Awareness of Science, The Australian National University และ Prof. Mike Gore, The First and Founding Director of Quesstacon, The National Science and Technology Centre, Australia. และ Prof. Peter Upton, Country Director of the British Council Thailand. พร้อมด้วยบรรดาข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่งจำนวน 300 ท่าน
ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1. การเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ
2.การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและการมีชีวิตความเป็นอยู่โดยการสร้างคน ขึ้นมารองรับ และปรับระบบการจัดการเพื่อให้ตอบสนองการแก้ไขปัญหาของประเทศ
3. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีแนวทางในการดำเนินงานในลักษณะ 6 I อันได้แก่การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Invaluable) , การบ่มเพาะเทคโนโลยี (Incubation) , มีการดำเนินงานในลักษณะที่มีความเป็นสากล เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ (International) , มีข้อมูลเจาะลึกต่าง ๆ (Intelligent) , พัฒนาไปสู่ความเป็นนวัตกรรม (Innovation) และการสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้น (Impressiveness)
การสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ประชาชน อย่างเช่น การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ควรจะเน้นความเข้าใจด้านนโยบาย (Policy) ให้วิทยาศาสตร์อยู่ในกรอบที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ทั้งในห้องปฏิบัติการวิจัย การสอนและจำเป็นที่คนไทย 62 ล้านคน จะต้องมีความรู้สึกสนุกไปด้วย มีความตระหนักว่าอะไรเป็นปัญหาที่มีความสำคัญของคนส่วนใหญ่ของประเทศและมีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย นักวิจัยเกาหลีได้รับงบวิจัยปีละ 3-5 % ส่วนประเทศไทยมีงบวิจัย เพียง 0.1 % เท่านั้น สำหรับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนและประเทศญี่ปุ่น มองเห็นความสำคัญต่ออาชีพนักวิจัยมาก เช่น บริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่ง มีคนทำงานวิจัยและพัฒนา (Research & Development) จำนวน 5,100 คน
ประเทศไทย ควรมุ่งสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้คน 62 ล้านคนด้วยโดยผลักดันให้เกิดความประทับใจ ทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่าสามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยให้เกิดความสำเร็จและนำไปขยายผลผลิต (Productivity) และทุกสิ่งที่นักวิจัยคิดเป็นประโยชน์กับประเทศ
ตัวอย่างเช่น ผลงานวิจัยแผ่นฟิล์มยืดอายุผลไม้ , การหีบน้ำมันสบู่ดำ , การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ , การเพิ่มมูลค่าอัญมณีเพื่อการส่งออก ฯลฯ ซึ่งวิทยาศาสตร์จะให้คำตอบได้ คนส่วนใหญ่มักจะถามคำถามเกี่ยวกับอาหารและวัตถุประหลาด (แผ่นเจลลดไข้ที่มีข่าวฮือฮาว่าเป็นตัวประหลาดตกลงมาจากท้องฟ้า)
นอกจากการสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยแล้ว ยังต้องส่งเสริมโดยการหาสถาบันการเงินมารองรับต่อจากการสร้างผลงานวิจัยและโรงบ่มเพาะเทคโนโลยี(Incubation) เพื่อพัฒนาให้ผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์และเกิดเป็นธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จให้ได้ ก็จะเกิดการติดต่อประสานกันเป็นเครือข่ายขึ้นมาแล้วมีการสื่อสารข้อมูล (Communication) ก็จะเผยแพร่ออกไปได้ เช่น รายการโทรทัศน์ ควรจะทำให้คนมองเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกอย่างมีคุณค่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตั้งงบประมาณจัดให้มีรถคาราวาน 5-10 คัน ขนเครื่องมือวิทยาศาสตร์ออกไปเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้แล้ว สื่อมวลชนก็มีส่วนสำคัญ มีพื้นที่และเวลาสำหรับการเผยแพร่ข่าวสารวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น เพื่อเปิดโลกทัศน์ของประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวาง อย่างเช่น ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในช่วง Prime time ช่วงเวลาหลังข่าว 2 ทุ่ม นอกจากการนำเสนอรายการเกมส์โชว์กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีข้อตกลงกับ อสมท. ให้สามารถแทรกข่าวสารวิทยาศาสตร์และผลงานของนักวิจัยไทยด้วย
การสร้างเส้นทางอาชีพของนักวิจัยให้มีความชัดเจนในประเทศไทยและผลตอบแทนที่เหมาะสมรวมทั้งการเติบโตในสายงานอาชีพนักวิจัยได้อย่างภาคภูมิใจ บัดนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จับมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดย นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เห็นชอบด้วยและผลักดันสิทธิประโยชน์ด้านผลงานวิจัย ถ้าเป็นการสร้างงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงให้ขึ้นไปสู่ต้นน้ำโดยการสร้างคนและการรับประกันให้ด้วยเป็นแนวทางสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลงานวิจัยชั้นเยี่ยม และผลงานดี ๆ จากฝีมือการสร้างสรรค์และความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นของนักวิจัยไทย นโยบายสำคัญที่เป็นหัวใจคือ การสร้างความประทับใจ คนไทยชอบข่าวที่มีความแรง เช่น การที่นายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ เอาหมีแพนด้าไปไว้ที่สวนสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่าเวลาผ่านไปไม่ถึงปี มีรายได้เข้าเพิ่มขึ้น 2 - 5 แสนบาท มีจำนวนคนเข้าชมสวนสัตว์เพิ่มขึ้นเป็นล้านกว่าคน ดังนั้นการหาสิ่งดึงดูดใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องหาต้นแบบและผลักดันให้มีกิจกรรมขยายออกไปสู่ชุมชนและประชาชนทั่วไป นี่คือกิจกรรมที่รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวพยายามที่จะส่งข้อมูลไปสู่ประชาชน ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรจุดสำคัญ คือ ประชาชนต้องมีเสียงสะท้อนกลับมามีการตั้งโจทย์มาให้ว่าต้องการอะไร จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำได้ตรงจุดตรงกับความต้องการของประชาชนด้วย ทุกสิ่งด้านนโยบายได้ผ่านความเห็นชอบจากบรรดาข้าราชการระดับสูงและระดับกลางของกระทรวงฯ เพื่อเป็นการปูทางให้และเทคอนกรีตให้เกิดความแข็งแรง สร้างให้เกิดความภาคภูมิใจนำไปสู่ความตระหนักทุกเรื่องแล้วก้าวไปด้วยกัน ทุกวันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ใกล้ชิดประชาชน และต่อไปก็จะไปสู่ “ความภูมิใจในชาติ ภูมิใจในนักวิทยาศาสตร์ไทย”
ดร.กำจัด มงคลกุล อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตประธานสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ : สถานภาพและเข็มทิศสำหรับประเทศไทย ประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่มั่นคงล้วนแต่มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรากฐานสำคัญ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจึงพยายามพัฒนาสมรรถภาพด้านนี้ของตน ประเทศไทยก็ได้ตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานขึ้นเมื่อปี 2522 บัดนี้ผ่านมาแล้ว 27 ปี มีรัฐมนตรีผลัดเปลี่ยนมาดูแลจำนวนมากมาย สถานะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยแม้จะเจริญก้าวหน้ากว่าเดิมพอสมควร แต่ถ้าดูจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ International Institute for Management Development (IMD) ปี พ.ศ. 2549 ใน 60 ประเทศ ประสิทธิภาพภาคธุรกิจได้อันดับ 21 แต่ภาพรวมของประเทศตกไปอยู่อันดับ 32 เนื่องจากมีตัวถ่วงขาประจำของประเทศคือ โครงสร้างพื้นฐานเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งมั่กอยู่ใกล้ที่โหล่ ปีนี้ดีหน่อยเลื่อนเป็นอันดับ 52 ความจริงข้อมูลนี้เป็นที่ประจักษ์มานานแล้วแต่ไม่มีทีท่าว่าผู้บริหารประเทศในอนาคตอันใกล้จะสนใจจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น ผลักดันให้มีโครงการ Megaproject ของชาติที่มีเป้าหมายยกระดับด้านวิทยาศาสตร์ของไทยให้อยู่ใน 15 อันดับแรกของ IMD ใน 10 ปี เป็นต้น
สาเหตุสำคัญที่ผู้บริหารประเทศไม่ให้ความสำคัญดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวและประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ตระหนักเช่นกันการแก้ไขปัญหาด้านความตกต่ำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงต้องเน้นที่จุดนี้เพราะเป็นคอขวด หากไม่แก้ไขการพัฒนาในจุดอื่น ๆ ก็เกิดขึ้นยากอย่างที่เห็นกันอยู่ โชคดีที่ยังมีแสงไฟอยู่ที่ก้นถ้ำในแผนกลยุทธด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (2547-2546) ซึ่งเป็นแผนที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและมีกลยุทธหลักการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชน และมีผลการวิจัยศึกษาวิธีดำเนินการด้านนี้ที่กระทำอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการเสนอรูปแบบและมาตรการที่อาจนำไปสร้างความตระหนักแก่ประชากรเป้าหมายกลุ่มต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้รับผิดชอบนโยบายของรัฐในด้านนี้ จะนำไปพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง หากรัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนตามเหมาะสมแล้ว ก็พอมีความหวังว่าอีกไม่นานเกินรอเราอาจเห็นพลังความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประชาชนกระหึ่มไม่แพ้พลังความตื่นตัวด้านประชาธิปไตยในปัจจุบัน ซึ่งช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประเทศได้
ความจริงประเทศไทยได้จัดทำโครงการที่มีเป้าหมายการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ (สตวท.) มาตั้งแต่ปี 2525 โดยรัฐบาลได้ประกาศให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยและให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งสามารถสร้างความตื่นตัวในประเทศได้มาก จนต่อมาได้ขยายเป็นสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และมีการจัดงานทุกปี บางปีใช้งบประมาณร่วม 200 ล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่าการดำเนินการตลอดเวลายี่สิบกว่าปีแม้จะได้ผลระดับหนึ่ง โดยเฉพาะระดับโรงเรียน แต่ยังไม่สะท้อนให้เห็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิสัยทัศน์ของผู้นำสังคม นักการเมือง และผู้บริหารประเทศ จึงสมควรจะต้องมีการสังคายนาเป้าหมายและทิศทางดำเนินการของการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามข้อวิเคราะห์และเสนอแนะจากงานวิจัยดังกล่าวเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ยิ่งขึ้นด้วย
ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็คือการพัฒนาจิตใจไปควบคู่กับการพัฒนาทุกด้านให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นเพื่อการแข่งขันทางการค้าและเพื่อการส่งออกเท่านั้น ดังนั้นพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก เพราะเป็นการพัฒนาที่มาจากพื้นฐานความเข้าใจของจิตใจที่ถูกยกระดับให้พัฒนาควบคู่กับการใช้ชีวิตในรูปแบบที่เรียบง่ายแบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ปัจจุบันมีหลายองค์กร ที่ได้พัฒนาเศรษฐกิจโดยนำวิทศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปมีบทบาทสำคัญ เช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันเน้นการสร้างนวัตกรรม ที่ภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือไปสู่กระบวนการผลิตได้ ซึ่งนำไปสู่สังคมแบบวัตถุนิยมเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากมิติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว นั่นคือ มิติทางจิตวิญญาณ ที่ถูกคนมองข้ามความสำคัญไป คนส่วนใหญ่จะมองเห็นเพียงเป็นสินค้าโอทอป สินค้าพื้นเมือง แต่ไม่ได้มองถึงที่มาของสินค้าพื้นเมืองเหล่านั้นว่าก่อนที่จะนำมาวางขายมีรากเหง้าหรือเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างไร มีกระบวนการขั้นตอนที่ซับซ้อนอย่างไร นอกจากฝีมือและความสามารถแล้ว ยังรวมไปถึงความเชื่อและค่านิยมของคนพื้นเมืองหรือคนในท้องถิ่นที่ถูกเรียกว่า คนระดับรากหญ้า ชนบทมีส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะรากหญ้า อยู่ใกล้ชิดดิน เกษตรกรรมจะเน้นบริบทชุมชนชนบทและให้ความสำคัญกับรากเหง้าของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เป็นสิ่งชาวต่างประเทศมักถามว่า อะไร จะแยกได้อย่างไรว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นอันไหนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง (Local wisdom) ซึ่งต่างกับคำว่า (In the genius Knowledge) ไม่เพียงแต่เป็นแค่ความรู้ธรรมดาแต่ถือว่าเป็นสมบัติของชาติเป็นของสูง ทุกครั้งที่ประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจก็จะวิ่งไปหาชนบท เช่น พืชสมุนไพร ฯลฯ เมื่อกลับไปพบรากหญ้าก็จะพบว่าประเทศยังมีความหวัง จึงควรใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้ง 2 มิติ อันได้แก่ จิตวิญญาณ ความเชื่อ ความเคารพธรรมชาติ ควบคู่โลกทัศน์ทางมิติจิตวิญญาณ อย่างเช่น การปลูกข้าว ข้าวไม่ใช่แค่พืชเศรษฐกิจของประเทศ แต่ข้าวคือชีวิต มีพระแม่โพสพคุ้มครองเม็ดข้าว การรับประทานข้าวให้หมดเพราะข้าวแต่ละเมล็ดได้มาด้วยความยากลำบากและต้องใช้ระยะเวลานานในการปลูกข้าวตามฤดูกาล กว่าจะได้ข้าวมาต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อและแรงกาย จึงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวมากมาย มีการนับถือแม่พระโพสพ ตั้งแต่ต้นข้าวเริ่มตั้งท้องออกรวงจนกระทั่งเก็บเกี่ยวแล้ว มีพิธีแรกนาขวัญ มีประเพณีทำขวัญข้าว นำขอสวยงามไปถวายเหมือนคนตั้งครรภ์จะได้อารมณ์ดีและมีผลิตผลออกมามาก เป็นการทำด้วยความเคารพมีจิตวิญญาณของการทำนุบำรุงเพื่อให้ข้าวมีคุณภาพจะทำให้ด้อยคุณภาพไม่ได้ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงต้องพัฒนาให้ครบทั้ง 2 มิติ
ปัจจุบันคนเราให้ความสำคัญกับความรู้ใหม่ ๆ คิดว่าความรู้ภูมิปัญญาเดิมเป็นเรื่องล้าสมัย ประเทศไทยรับเอาความรู้จากชาติตะวันตกมาใช้และถอนความรู้เดิม ความรู้ท้องถิ่นจึงถอยร่นไปสู่ชนบทและส่งเสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งไม่ตรงตามความต้องการและไม่ได้ช่วยพัฒนาท้องถิ่นจึงถูกลืมเลือนไป ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงควรนำมาใช้ พัฒนาไปพร้อมกับบูรณาการไปด้วยกันให้ได้
การสร้างความตระหนักในบริบทรากหญ้า เราต้องเปลี่ยนความคิดเดิมจาการถ่ายทอดความรู้จากคนรู้มากกว่าไปสู่คนที่รู้น้อยกว่า แต่ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมี 2 มิติ มีที่เกิดแตกต่างกัน การสร้างความสำคัญให้คนเข้าใจและยอมรับว่าการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ท้องถิ่น ไม่ใช่นำความรู้ไปยกระดับผู้คนเท่านั้น แต่ต้องสามารถเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์(Userbase Knowledge)ได้ด้วย โดยการนำความรู้ไปสู่ชนบทและให้รู้จักการใช้ข้อมูล (Information in Action) หรือความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงได้ด้วย
เราต้องเข้าใจธรรมชาติของคนท้องถิ่นว่าความร่ำรวยมาทีหลัง การมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ความรู้มีที่เกิดหลายที่และความรู้แต่ละอย่างมีข้อดีของตัวเอง หากเรายอมรับว่า ความรู้มีหลากหลายจะทำให้เรามีความอดทนและยอมรับความรู้อื่น ๆ จึงจะนำสังคมไปรอด (Multi Perspective Relation) คิดมุมมองอื่น ๆ ว่าถ้านำความรู้เข้าไปจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนหรือไม่ นี่คือความหลากหลายทางความคิด
ในสังคมที่นิยมนวัตกรรมจะเป็นสังคมที่หล่อหลอมให้ผู้คนเหมือนกันหมด รูปแบบการจัดการเบ็ดเสร็จเหมือนกันหมดจะบดบังความงดงามที่จริงแท้ในธรรมชาติของสิ่งนั้น ก็จะไม่แลเห็นความงามที่แตกต่าง วิทยาศาสตร์เป็นเทคนิคนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้ชีวิตเกิดความสะดวกสบายก็จริง แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ช่วยให้ผู้คนมีจิตใจอ่อนโยน มีความคิดดีทำเพื่อสังคม
การสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ให้เหมาะสมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น อาศัยศาสตร์ของการจัดการความรู้ ทั้ง 3 ประการ อันได้แก่ ข้อแรก การเชื่อมช่องว่างระหว่างประชาชนกับนักวิทยาศาสตร์ ให้ประชาชนตระหนักว่าความรู้มีอยู่สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ข้อสอง เอื้อให้คนชนบทนำความรู้ไปใช้ ตามต้องการ (Userbase Knowledge) เพราะคนชนบทคำนึงถึงความอยู่รอดของชีวิตเป็นสำคัญ เช่น การทำผ้าย้อมคราม นักวิทยาศาสตร์และนักเคมี ก็เรียนรู้วิถีชีวิตและการย้อมผ้าครามจากชาวบ้าน และให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านได้ปรับปรุงกระบวนการในการย้อมผ้าคราม ทำให้จุลินทรีย์ในหม้อครามมีชีวิตยาวนานไม่ตาย หม้อครามไม่เน่าง่าย ข้อสาม นักวิจัย ควรมีวิธีการพูดที่ให้เกียรติไม่ทำให้ชาวบ้านเสียศักดิ์ศรีและยังคงเสน่ห์แห่งความงดงามผ้าย้อมครามไว้ได้ทั้งลวดลายผ้าสีสันและกลิ่นหอมของผ้าครามตามธรรมชาติ
ดร.ยุวนุช กล่าวทิ้งทายว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านเปิดใจอย่างมากในการรับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ตอบสนองต่อการประกอบสัมมาอาชีพของคนชนบท แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดก็คือ นักวิทยาศาสตร์ทำงานกับชุมชน ผู้สนใจขอแนะนำให้อ่านหนังสือ “ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จะวางตลาดเร็ว ๆ นี้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net