กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสัมมนา เรื่อง ความร่วมมือในการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว : ก้าวต่อไปของนวัตกรรมใหม่ ... พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนกฎหมายให้เกิดผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนายธีระวุฒิ อรุณเวช ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม พม. เป็นประธานเปิดการสัมมนา วันจันทร์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ ณ รร..เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ
นายธีระวุฒิ อรุณเวช ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม พม. กล่าวว่า “ครอบครัว” เป็นสถาบันที่มีคุณค่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ ล้วนส่งผลให้สถาบันครอบครัวไทยมีการขาดพลังในการเผชิญกับปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าเดิม โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรีที่เชื่อมโยงกับความรุนแรงอื่นๆ ในสังคม เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ การล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหายาเสพติด ปัญหาของเด็ก เยาวชน เป็นต้น
นายธีระวุฒิ กล่าวต่อว่า พม. โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ผลักดันเห็นได้จาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือป้องปรามการกระทำผิด การที่จะเข้าถึงสิทธิ ความต้องการของผู้เสียหายอย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากภาคีสหวิชาชีพทุกภาคส่วน ทั้งในด้านกระบวนการการใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การบำบัด ฟื้นฟู เยียวยา การกำกับติดตาม และการป้องกันเฝ้าระวังในชุมชน จึงจะสามารถประกันได้ว่า กฎหมายฉบับนี้บังเกิดผลบังคับใช้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
“การสัมมนาครั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ปฏิบัติงานในสาขาสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำสู่แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนสร้างข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในด้านการป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา บำบัดฟื้นฟู อย่างเป็นรูปธรรม และเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ตลอดจนการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนต่อไป” นายธีระวุฒิ กล่าว