อียูประกาศหลักเกณฑ์ ECO LABEL สำหรับสินค้ากระดาษทิชชู่

ข่าวทั่วไป Tuesday August 25, 2009 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศข้อตัดสิน (Commission Decision 2009/568/EC) ว่าด้วยการจัดทำหลักเกณฑ์ในการปิดฉลาก ECO LABEL สำหรับสินค้ากระดาษทิชชู่ ใน Official Journal ฉบับที่ L197 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 กำหนดให้สินค้ากลุ่มกระดาษทิชชู่ (Tissue Paper รหัส 004) ภายใต้ระเบียบ Regulation (EC) No.1980/2000 ที่จะปิดฉลาก ECO LABEL ต้องสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ในข้อตัดสินดังกล่าว และให้ยกเลิกข้อตัดสินเดิม (Decision 2001/405/EC) โดยหลักเกณฑ์ทางนิเวศน์วิทยา (Ecological Criteria) รวมทั้งการประเมินที่เกี่ยวข้องและข้อกำหนดในการตรวจพิสูจน์จะมีผล 4 ปี นับจากวันที่ข้อตัดสินนี้ได้รับความเห็นชอบ คำขอปิดฉลาก ECO LABEL ที่ยื่นก่อนวันที่ข้อตัดสินนี้ได้รับความเห็นชอบ จะได้รับการประเมินตามเงื่อนไขในข้อตัดสินเดิม สำหรับคำขอที่ยื่นตั้งแต่วันที่ข้อตัดสินใหม่ได้รับความเห็นชอบจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2553 จะใช้หลักเกณฑ์ของข้อตัดสินเดิมหรือข้อตัดสินใหม่อันใดอันหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ การขอปิดฉลาก ECO LABEL ตามหลักเกณฑ์ในข้อตัดสินเดิมจะใช้ได้ 12 เดือนนับจากวันที่ข้อตัดสินใหม่นี้ได้รับความเห็นชอบ หลักเกณฑ์ในข้อตัดสินใหม่ จะประกอบด้วยหัวข้อหลัก 8 หัวข้อ คือ 1. การปล่อยของเสียออกสู่น้ำและอากาศ (Emission to water and air) 2. การใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระดาษทิชชู่ (Energy use) 3. เส้นใยที่ใช้ผลิตกระดาษมาจากป่าไม้ที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน (Fibres-Sustainable Forest Management) 4. ข้อห้าม/ ข้อจำกัดในการใช้สารเคมีอันตราย (Hazardous Chemical Substances) 5. ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ (Product Safety) 6. การจัดการของเสีย (Waste Management) 7. ความเหมาะสมกับการใช้งาน (Fitness for use) 8. ข้อมูลสำหรับผู้บริโภค (Consumer Information) อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยส่งออกสินค้ากระดาษทิชชู่ไปอียูเฉลี่ยมูลค่า 1,788 ล้านบาทต่อปี (2549-2551) โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยส่งออก 765 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกัน ของปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 11 การปิดฉลาก ECO LABEL บนสินค้ากระดาษทิชชู่จะเป็นการรับรองว่าตลอดกระบวนการผลิตสินค้าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าจากการปิดฉลากดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจสามารถ Download รายละเอียดข้อตัดสินฉบับใหม่นี้ ได้จาก website : http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L2009:197:0087:0095:EN:PDF ที่มา : สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ