กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
กทม. เร่งให้ความรู้ด้านการป้องกันตนเองจากโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ แก่ประชาชน ส่งอาสาสมัครลงพื้นที่คัดกรองผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เพื่อลดการแพร่เชื้อ พร้อมตั้งเป้าขยายการให้บริการ “คลีนิคเอดส์” ในโรงพยาบาลสังกัดกทม.ทุกแห่ง
แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการด้านการป้องกัน และดูแลรักษาโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2552 ณ ห้องภาณุรังสี 1 โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด ซึ่งที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ภายใต้โครงการด้านการป้องกัน และดูแลรักษาโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกรุงเทพมหานคร ในระยะที่ 2 ประกอบด้วย BMA2 โครงการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น พื้นที่กรุงเทพมหานคร (HIV Prevention for IDUs in Bangkok), BMA3 โครงการการป้องกันในกลุ่มผู้ติดเชื้อ (Prevention with Positives), BMA4 โครงการปรับปรุงคุณภาพการป้องกัน ดูแล และรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์แบบครบวงจร ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง (Improve Quality of HIV Care in 9 BMA Hospitals), BMA6 โครงการเฝ้าระวังเชิงรุกโดยอิงประชากรเป็นฐานและการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมวัณโรค เครือข่ายเฝ้าระวังวัณโรคเชิงรุกแห่งประเทศไทยในกรุงเทพมหานคร (Active Population-Based Surveillance and Enchanced Control of Tuberculosis : The Thailand TB Active Surveillance Network) และ BMA7 หน่วยประสานงานโครงการฯ (BMA/GAP Coordinating Unit)
แพทย์หญิงมาลินี กล่าวภายหลังการประชุมว่า กรุงเทพมหานครเน้นการให้ความรู้ด้านการป้องกันและดูแลรักษาโรคเอดส์ โดยใช้อาสาสมัครลงพื้นที่คัดกรองผู้ติดเชื้อ และนำผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในระบบ ซึ่งขณะนี้ได้ติดตามผลและเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงลงและนำข้อมูลเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว พร้อมกันนี้ ทีมอาสาสมัครยังออกให้ความรู้กับผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นในชุมชนต่างๆ ด้วย สำหรับการปรับปรุงคุณภาพการป้องกัน ดูแล และรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์แบบครบวงจรในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่งนั้น ขณะนี้ได้เปิดให้บริการ “คลีนิคเอดส์” แล้ว 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลตากสิน และวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการให้ครบทั้ง 9 แห่งด้วย
ทั้งนี้ จากสถิติความชุกของการติดเชื้อในกลุ่มต่างๆ ที่เข้ารับบริการในคลีนิคนิรนาม ปี 2008 พบว่า ผู้มารับบริการตรวจเอดส์ จำนวน 10,000 ราย (แยกเป็นชาย 60% หญิง 40%) เป็นชายรักชาย 25% และเป็นผู้ติดยาเสพติด 0.3% พบเชื้อ HIV 12%ในกลุ่มชายรักต่างเพศ 26% ในกลุ่มชายรักชาย 16% ในหญิง(14% เป็นหญิงโสด และ 22% เป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว) 11% ในเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี และพบ 57% ในผู้ติดยาเสพติด