กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--คต.
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้านมผงขาดมันเนย ได้มีมติให้จัดสรรปริมาณการนำเข้านมผงขาดมันเนยเพื่อขอรับสิทธิชำระภาษีตามพันธกรณีความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ประจำปี 2549 ครั้งที่ 2 จำนวน 40,040 ตัน ให้แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 71 ราย ซึ่งต้องนำเข้าภายในสิ้นปี 2549 นี้
กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกระเบียบว่าด้วยการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีในโควตาพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดปริมาณนำเข้านมผงขาดมันเนยที่จะจัดสรรให้ผู้มีสิทธิยื่นขอหนังสือรับรองสำหรับการชำระภาษีในโควตา ประจำปี 2549 ปริมาณทั้งสิ้น 55,000 ตัน โดยสินค้าดังกล่าวต้องมีถิ่นกำเนิดและส่งมาจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) หรือ ภาคีแกตต์ 1947 หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธิฯ ตามความตกลงภายใต้ WTO และนำเข้าสินค้านมผงขาดมันเนย จะชำระภาษีในโควตาร้อยละ 5 หากนำเข้านอกโควตาจะต้องชำระภาษีร้อยละ 216 ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 กรมฯ ได้ประกาศจัดสรรปริมาณนำเข้านมผงขาดมันเนย ครั้งที่ 1 ปริมาณ 14,960 ตัน และในส่วนที่เหลืออีก 40,040 ตัน คณะกรรมการพิจารณาการจัดสรรปริมาณนำเข้านมผงขาดมันเนย ได้มีมติให้จัดสรรปริมาณนมผงขาดมันเนยให้แก่ผู้มีสิทธิยื่นขอหนังสือรับรอง ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มนิติบุคคลผู้ผลิตนมข้น 5 ราย ปริมาณ 14,937.034 ตัน อาทิ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 2. กลุ่มนิติบุคคลผู้ประกอบการแปรรูปอาหารนมอื่น 52 ราย ปริมาณ 13,537.355 ตัน อาทิ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด , บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ คาล เบเวอเรส (ประเทศไทย) จำกัด 3. กลุ่มนิติบุคคลผู้ผลิตนมเปรี้ยว 14 ราย ปริมาณ 11,565.611 ตัน อาทิ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด , บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้ผู้ที่ได้รับจัดสรรต้องนำเข้าให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2549
สำหรับสถิติการนำเข้านมผงขาดมันเนย ตามความตกลง WTO ในปี 2547 ได้ให้โควตาการนำเข้าปริมาณ 55,000 ตัน แต่มีการนำเข้าทั้งสิ้นปริมาณ 68,020 ตัน โดยนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ในปี 2548 โควตาการนำเข้า 55,000 ตัน และมีการนำเข้า 69,670 ตัน นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ