กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการตามแนวพระราชดำริคลองลัดโพธิ์ หมู่ 9 และ หมู่ 10 ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริคลองลัดโพธิ์ เป็นการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ที่เป็นคลองลัด แนวเหนือ-ใต้ ของคุ้งน้ำเจ้าพระยา อยู่บริเวณตำบลทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ที่เดิมมีสภาพตื้นเขินกว้างเพียง 12 เมตร อีกทั้งแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะคดเคี้ยว เมื่อมีน้ำหลากลงมาปะทะกับน้ำทะเลหนุนระดับน้ำก็จะขึ้นลงตลอดเวลา ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ราบลุ่มสองฝั่งเป็นประจำ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย เมื่อทำการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์โดยขุดลอกคลองให้มีความลึกและกว้างขึ้น โดยมีเขตคลองกว้าง 80 เมตร เฉพาะตัวคลองที่ใช้ระบายน้ำกว้าง 65-66 เมตร ระดับก้นคลองอยู่ที่ - 7.0 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งจะสามารถลดระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600 เมตร ช่วยให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลดลงทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างดี
สำหรับตัวอาคารประตูระบายน้ำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีช่องประตูระบายน้ำที่ติดตั้งบานระบายน้ำ 4 ช่อง กว้างช่องละ 14 เมตร โดยฤดูแล้งจะปิดบานระบายน้ำตลอดฤดู ส่วนฤดูน้ำหลากปิดบานประตูเมื่อน้ำทะเลกำลังขึ้น และเปิดบานประตูในช่วงที่น้ำทะเลกำลังลง เริ่มก่อสร้างเมื่อ 13 พ.ย. 2545 เสร็จ มิ.ย. 2549 งบประมาณ 509 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเป็นประตูระบายน้ำแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองลัดโพธิ์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยออกแบบเป็นกังหันพลังน้ำอาศัยพลังงานจลน์จากความเร็วของกระแสน้ำ ติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.74 กิโลวัตต์ต่อวัน
การปรับปรุงคลองลัดโพธิ์จะสามารถระบายน้ำโดยควบคุมอัตราการไหลไม่เกิน 500 ลบ.ม./วินาที จะลดระดับน้ำท่วมสูงสุดในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 5-6 เซนติเมตร สามารถลดระยะน้ำท่วมได้ 1-2 วัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี ผ่านกรุงเทพมหานครลงมาจนถึง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ อีกทั้งยังเป็นการลดภาระการบริหารจัดการน้ำและป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว ลดเวลาในการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถประเมินเป็นมูลค่าผลประโยชน์ได้กว่า 161.4 ล้านบาทต่อปี